ตลท.ต่อยอด"LiVE แพลตฟอร์ม"ยกระดับสู่"กระดานเทรด"SMEs-Startup"พร้อมขยายโอกาสดึงต่างชาติร่วมทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 27, 2019 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เดินหน้าพัฒนาบริการแพลตฟอร์มในการระดมทุนรูปแบบใหม่"Crowdfunding"ภายใต้ชื่อโครงการ "LiVE แพลตฟอร์ม" โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการ "SMEs" และ "Startup" และกิจการเพื่อสังคม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อย บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ของทุนจดทะเบียน

"LiVE แพลตฟอร์ม" เป็นการระดมทุนรูปแบบ "Equity based crowdfunding" เป็นลักษณะที่ผู้สนใจในกิจการนำเงินไปลงทุนเพื่อแลกกับหุ้นที่มีสิทธิในความเป็นเจ้าของบริษัท พร้อมโอกาสได้รับเงินปันผล และสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นที่ได้มาเพื่อกำไรจากส่วนต่างราคา เป็นรูปแบบเดียวกับการซื้อขายหุ้นบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai เพียงแต่บริษัทที่อยู่ใน "LiVE แพลตฟอร์ม" จะไม่ได้ซื้อขายกันบนกระดานหลักที่เป็นการจับคู่หุ้นอัตโนมัติแบบ Realtime แต่จะเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยตรงเท่านั้น

นายพงศ์ปิติ เอกเธียรชัย ผู้อำนวยการงานส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนและวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลท.ในฐานะผู้อำนวยการ บริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การระดมทุนลักษณะ "Crowdfunding" เกิดขึ้นในไทยมานานแล้ว แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ รูปแบบแรกคือ "Equity based crowdfunding" คือการระดมทุนใน "LiVE แพลตฟอร์ม"

รูปแบบที่สองคือ Donation-Based และ Reward-Based Crowdfunding ระดมเงินทุนในรูปแบบการขอบริจาค (Donation) ยกตัวอย่าง โครงการของตูน บอดี้สแลม "ก้าวคนละก้าว"เป็นลักษณะการระดมทุนประเภท Donation ผู้คนที่สนใจร่วมบริจาคจะได้ผลตอบแทนคือ "ความสบายใจ" และการให้สิทธิ์ประโยชน์บางอย่าง (Reward) แลกเปลี่ยนกับเงินทุน เช่น ร้านอาหารดังขายคูปอง (Voucher) ล่วงหน้าเพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาใช้บริการ ผู้ที่ซื้อ Voucher จะได้รับผลตอบแทนเป็นสินค้าหรือบริการ เป็นต้น

และรูปแบบสามคือ Debt based crowdfunding ล่าสุดในช่วงต้นปี 2562 ทางสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกเกณฑ์ Debt based crowdfunding ซึ่งบริษัทจะออกเป็นลักษณะคล้ายหุ้นกู้ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นกู้ ได้รับผลตอบแทนดอกเบี้ยคงที่ในแต่ละปี ซึ่งการระดมทุนทั้ง 3 รูปแบบผู้ที่นำเงินมาลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในลักษณะแตกต่างกันไป

*ตลท.ศึกษาร่วม ก.ล.ต.ต่อยอด "LiVE แพลตฟอร์ม"ยกระดับสู่กระดานเทรด

นายพงศ์ปิติ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลรายละเอียดและหารือกับ ก.ล.ต.ถึงแนวทางยกระดับ "LiVE แพลตฟอร์ม"พัฒนาขึ้นเป็น "กระดานซื้อขายหุ้น SMEs และ Startup แต่ยังต้องพิจารณารายละเอียดร่วมกันว่าจะเป็นในลักษณะใด เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าผู้ลงทุนบุคคลทั่วไปยังขาดความเข้าใจการลงทุนธุรกิจ SMEs และ Startup ที่มีความเสี่ยงสูง โดยทางตลท.กำลังดำเนินการผลักดันให้ผู้ลงทุนบุคคลทั่วไปคุ้นเคยกับช่องทางการเปิดเผยข้อมูลบริษัทใน "LiVE แพลตฟอร์ม" ปัจจุบันมี Startup Showcase แล้วจำนวน 36 บริษัท และภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 บริษัท สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ผ่าน www.live-mkt.com

"ตอนนี้เรากำลังดำเนินการให้ผู้ลงทุนเกิดความคุ้นเคยในการเข้าไปศึกษาข้อมูลบริษัทอยู่ใน LiVE แพลตฟอร์ม พร้อมกับอยู่ระหว่างหารือกับ ก.ล.ต.ว่าแนวทางการตั้งเป็นกระดานที่3 หรือซื้อขายหุ้น SMEs และ Startup จะสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้อย่างไร

ยกตัวอย่างกรณีตลาดหลักทรัพย์ฯในต่างประเทศส่วนใหญ่มีการซื้อขายกันบนกระดานหลัก แต่ถ้ามองเงื่อนไขบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET และ mai มีการเปิดเผยข้อมูลแบบเดียวกัน เช่น เปิดเผยงบการเงินรายไตรมาส เป็นต้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต้นทุนการดำเนินงานสูง ถ้าหากบริษัทขนาดเล็กใช้เกณฑ์เปิดเผยงบการเงินรายไตรมาสเช่นเดียวกัน อาจจะสร้างภาระทางการเงิน ดังนั้นคงต้องมาศึกษาร่วมกันว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะนำมาประยุกต์ใกับบริษัทขนาดเล็กได้ทั้งหมดหรือไม่"

ปัจจุบันเงื่อนไขการลงทุนใน "LiVE แพลตฟอร์ม"เปิดให้กับผู้ลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นประเภท Qualified investor เท่านั้น เช่น Venture Capital ,กองทุนส่วนบุคคล ,Angel Investor ,High Net Worth ผู้ลงทุนเหล่านี้สามารถเข้ามาดูข้อมูลและแสดงความคิดเห็นได้ ยังไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาลงทุนใน LiVE แพลตฟอร์ม เนื่องจากมีความกังวลว่าจะมีความเข้าใจเรื่องการลงทุนไม่เท่ากัน และการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็กมีความเสี่ยงสูงมาก แม้มีโอกาสเติบโตรวดเร็วในอนาคต แต่ก็อาจจะล้มเหลวในการประกอบธุรกิจได้เช่นกัน

สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนที่เป็น Venture Capital ,กองทุนส่วนบุคคล สนใจลงทุนในธุรกิจที่เริ่มมีการเติบโตในระดับหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมีมูลค่าเงินพร้อมลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนเป็น Angel Investor มีจำนวนไม่มาก ส่วนมากประกอบธุรกิจของตัวเอง ทำให้มีการตั้งกองทุนขึ้นมา โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแล ซึ่งปัจจุบันมีหลายๆ กองทุนในไทยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท

"ผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจก็สามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลได้เช่นกัน เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯมีเป้าหมายอยากสร้างให้นักลงทุนเกิดความคุ้นเคยในการหาข้อมูลด้วยตัวเอง ผู้ลงทุนต้องเข้าไปพิจารณาด้วยตัวเองว่าธุรกิจนั้นมีความสนใจอย่างไร ที่ผ่านมาพบปัญหาว่านักลงทุนยังขาดการเข้าไปศึกษาข้อมูล ในทางกลับกันบางครั้งเจ้าของกิจการไม่เปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งการลงทุนในบริษัทขนาดเล็กจำเป็นอย่างมากต้องเข้าไปศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งเป็นข้อกังวลว่าการเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าไปลงทุนใน LiVE แพลตฟอร์มมีความพร้อมมากน้อยอย่างไร"

*ขั้นต้นปรับบริการเป็น "Virtual Pitching Platform" ศูนย์รวมข้อมูลครบในจุดเดียว

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พัฒนา LiVE แพลตฟอร์ม ขยายบริการเป็น "Virtual Pitching Platform" ศูนย์รวมข้อมูลผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลครบในจุดเดียว มุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนในการเปิดเผยข้อมูล สิ่งสำคัญคือต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน กระบวนการต่างๆจะเป็นลักษณะเดียวกับที่ดำเนินการกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ การให้เจ้าของธุรกิจมาเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ลงทุนด้วยตัวเอง แสดงจุดแข็งของธุรกิจ และมีความแตกต่างกับผู้ประกอบการรายอื่นอย่างไร ดังนั้น ถ้าผู้ลงทุนเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต นั้นแปลว่าจะได้กำไรจากการลงทุนมากขึ้นในอนาคตเช่นกัน

"ไมโครซอฟ ได้ทราบว่าตลาดหลักทรัพย์ ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพในวงกว้าง เป็นที่มาของการขยายบริการเป็น "Virtual Pitching Platform" เป็นการร่วมกับไมโครซอฟท์เข้ามาสนับสนุนการพัฒนา Startup Community Portal ให้อยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ อาซัวร์ ของไมโครซอฟท์ โดยผู้ประกอบการสตาร์ทอัพให้ข้อมูลและนำเสนอแผนธุรกิจ รวมถึงการตอบคำถามแก่ผู้ลงทุนโดยตรง ซึ่งผู้ลงทุนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook หรือดูย้อนหลังได้ นับเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ให้ผู้ลงทุนรู้จัก Startup ไทยมากขึ้น เชื่อมั่นว่าการเปิดเผยและการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะช่วยลดความเสี่ยง และร่วมลงทุนเป็นพันธมิตรในระยะยาว"

*เปิดช่องทางเพิ่มโอกาสต่างชาติร่วมลงทุนใน SMEs-Startup ไทย

การขยายบริการเป็น "Virtual Pitching Platform" ส่วนหนึ่งจะเป็นการกระจายข้อมูลไปยังผู้ลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้รับทราบข้อมูลของบริษัท SMEs และStartup ของไทย เนื่องจากผู้ลงทุนในต่างประเทศมีความเข้าใจรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มากกว่าคนไทย เพราะตามสถิติการลงทุนในธุรกิจ Startup ของต่างประเทศโอกาสบริษัทจะประสบผลสำเร็จมีแค่ 10% เท่านั้น ดังนั้นการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็กจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงลงทุนหลายบริษัท เพราะหากมีบริษัทใดประสบความสำเร็จก็จะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่ล้มเหลวด้วย

"ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว เราได้รับการติดต่อจากผู้ลงทุนต่างประเทศสนใจในธุรกิจใน LiVE แพลตฟอร์ม เพราะมองเห็นศักภาพของประเทศไทยในหลายด้าน เช่น โลจิสติกส์ ,คลังสินค้า มีโอกาสเติบโตตามตลาด E-Commerce ซึ่งเราพยายามจะไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นคนกลางช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กเจอกับผู้ลงทุนที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้วย ถือเป็นสิ่งสำคัญทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตได้ ถ้าบริษัทมีความพร้อมก็สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคต"

https://youtu.be/4l-CwaBSEgI


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ