PTT เล็งสร้างรง.ผลิตยารักษามะเร็งให้องค์การเภสัชฯเช่าระยะยาวคาดชัดเจนในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 2, 2019 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างปตท.กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นั้น เบื้องต้นปตท.มีแผนจะสร้างโรงงานให้องค์การเภสัชกรรมมาทำสัญญาเช่าระยะยาวเพื่อดำเนินการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง โดยให้องค์การเภสัชกรรมนำยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วมาดำเนินการผลิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจจากองค์การเภสัชกรรมว่าจะให้ปตท.ซึ่งมีความชำนาญเรื่องการบริหารจัดการโรงงาน ดำเนินการก่อสร้างโรงงานได้เมื่อใด หลังจากที่ได้เริ่มหารือกันระยะหนึ่งแล้ว โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้

ส่วนการผลิตยาใหม่นั้น ทางปตท.ถือเป็น New S-Curve ที่กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งการจะผลิตยาใหม่ในเชิงพาณิชย์ได้ต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะต้องใช้เวลาในการทดสอบด้วย

อย่างไรก็ตามเพื่อให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ ทางปตท.ก็จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดในการก่อสร้างโรงงาน โดยที่องค์การเภสัชกรรมไม่ต้องร่วมถือหุ้น เพื่อลดข้อจำกัดด้านการเงินขององค์การเภสัชกรรม เพราะที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตยาแต่ยังขาดงบประมาณ ซึ่งอาจทำให้โครงการต้องยืดเยื้อออกไป

การตัดสินใจร่วมมือกับองค์กรเภสัชกรรมเพื่อตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง เพื่อต้องการช่วยประเทศให้มีการผลิตยารักษาโรคมะเร็งใช้เองในราคาที่ถูกกว่ายานำเข้าถึง 50% ไม่ต้องการมุ่งหวังกำไร หากมีการตั้งโรงงานได้เร็วก็จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น และยังทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ อีกทั้งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ทำให้มีความต้องการใช้ยาเพิ่มสูงขึ้น

อนึ่ง เมื่อเดือนม.ค.61 ปตท.และองค์การเภสัชกรรม ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง "โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา" เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางยา ให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการในประเทศผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากนั้นยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทยังต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงในการผลิตด้วย

องค์การเภสัชกรรม มุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต ทั้งยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ทั้งยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน เบื้องต้น คาดว่าโรงงานผลิตรักษาโรคมะเร็ง จะลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายจะเริ่มผลิตยาได้เองในประเทศประมาณปี 68


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ