นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.วางเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างยั่งยืนเฉลี่ยในทุก ๆ ปี ตามการขยายลงทุนของกลุ่มปตท. รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty) ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีมาร์จิ้นดีกว่าสินค้าปกติ (commodity) ก็จะช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาและส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีที่มีความผันผวนตามสภาวะตลาด
ทั้งนี้ กลุ่มปตท.วางแผนบริหารจัดการและขยายงานของธุรกิจในกลุ่มให้สอดรับกับความต้องการของตลาด รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมในอนาคต และมองการขยายงานไปยังต่างประเทศที่มีศักยภาพ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่เข้ามาเสริมและสร้างความยั่งยืน
"ผลการดำเนินงานหลัก ๆ ขึ้นอยู่กับราคาและสเปรดด้วย มันยากในยุคนี้ไม่ได้ยากในยุคก่อนหน้านี้เพราะยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ แต่เป้าหมายเราคือการ growth อย่างยั่งยืน ทุก ๆ ปี...คำว่า growth ต้องมองไกล ๆ 5 ปี 10 ปี growth ขึ้น assest ก็ต้องเพิ่มขึ้น แนวโน้มแม้ว่าบางปีจะแย่ แต่โดยเฉลี่ยมัน growth ขึ้น จากที่เราลงทุนทุกปีปีละเป็นแสนล้าน ราคาและสเปรดเรา control ไม่ได้ ถ้าวอลุ่มโต แต่สเปรดเท่าเดิมเราก็โต และเราก็ต้องสร้างตัวเราเองด้วยการไม่ไปทำ product ที่ value ต่ำต่ำก็จะหันไปทำ product ที่ value สูงสูง พอเป็น commodity ก็ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเราก็จะไปทำ specialty"นายชาญศิลป์ กล่าวนายชาญศิลป์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปตท.ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุนเพราะว่ามีธุรกิจในหลายด้าน โดยมีกำไรสุทธิต่ำสุดที่ราว 2 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 58 และทำกำไรสุทธิสูงสุดที่ระดับ 1.35 แสนล้านบาทเมื่อปี 60 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะของตลาดโลกในเรื่องของราคาและสเปรดผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การที่จะรักษาระดับกำไรให้อยู่ระดับ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาทได้นั้น จะต้องบริหารจัดการและขยายการลงทุนให้มีความเหมาะสม
โดยในส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตจะมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ปตท.ต้องปรับตัวเพื่อหารายได้อย่างอื่นมาเสริมนอกจากการขายก๊าซฯเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะพิจารณาขายในรูปแบบโซลูชั่นให้ครอบคลุมมากขึ้น ,ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งนำโดยบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ก็จะรุกขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยล่าสุดจะเข้าไปร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม และร่วมทุนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีกในเมียนมา
ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ในส่วนของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ก็มองเรื่องการขยายการลงทุนโดยเฉพาะในสหรัฐ ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองในสหรัฐ ที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ซึ่งอาจจะส่งผลต่อนโยบายการบริหารประเทศหรือไม่อย่างไร ขณะเดียวกัน PTTGC ก็ยังมองโอกาสการลงทุนมากขึ้นในส่วนของการผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคต จากปัจจุบันที่ PTTGC มีการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutelene Succinate (PBS) อยู่แล้ว ก็มองโอกาสที่จะขยายไปยังการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งในด้านของวัตถุดิบ ,การตลาด และคู่แข่งด้วย
สำหรับประเด็นการลงทุนใหม่ในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) นั้น เห็นว่าอาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากที่เคยเกิดกรณีการฟ้องร้องเป็นคดีก่อนที่จะมีการถอนเรื่องออกไป แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบ ประกอบกับการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเพื่อนบ้านอื่นอย่างมาเลเซียและเมียนมา ก็มีพัฒนาการที่ดี โดยมีการค้นพบปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อคัดเลือกประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ ปตท. เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งแทนตนที่จะครบวาระในเดือนพ.ค.63 นั้น คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปลายไตรมาส 4/62 ถึงต้นไตรมาส 1/63 เนื่องจากยังมีกระบวนการที่จะต้องส่งเรื่องไปให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง พิจารณาเรื่องสัญญาจ้างที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน
"น่าจะเริ่มได้ปลายไตรมาส 4 หรือต้นไตรมาส 1 ปีหน้า ก็ต้องเผื่อไว้เล็กน้อย เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงเพราะว่าต้องได้คนที่เก่งและดีจริง ๆ สามารถทำงานร่วมเป็นทีมได้ ส่วนว่าใครเป็นใครอย่างไรก็แล้วแต่คณะกรรมการ ผมก็สงวนสิทธิในการออกเสียง แต่ก็ได้เตรียมผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานด้วยกันในกลุ่มปตท.ให้พร้อมที่สุดเท่าที่จะพร้อมได้ในเวลานี้"นายชาญศิลป์ กล่าวอนึ่ง นายชาญศิลป์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.61 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี 8 เดือน นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง เนื่องจากจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 12 พ.ค.63
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตกแห่งใหม่ 2 โรง ขนาดกำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลให้สิทธิบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นผู้ได้ดำเนินการนั้นยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ เนื่องจากผู้พัฒนาโรงไฟฟ้ายังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับปตท.นั้น นายชาญศิลป์ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับปตท. และการลงนามใด ๆ คงต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจ โดยผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาลจะต้องมีข้อสรุปให้เรียบร้อยก่อน ในส่วนของปตท.ก็พร้อมที่จะขายก๊าซฯให้อย่างแน่นอน เพราะมีระบบท่อก๊าซฯเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกซึ่งจะสามารถส่งก๊าซฯมายังโรงไฟฟ้าได้