(เพิ่มเติม) GPSC มั่นใจระดมเงินเพิ่มทุน 7.4 หมื่นลบ.รองรับแผนลงทุนอย่างน้อย 5 ปีดันกำลังผลิตเพิ่มเป็น 5,400 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 30, 2019 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มั่นใจระดมเงินเพิ่มทุนอีก 7.4 หมื่นล้านบาท รองรับแผนลงทุน 5 ปี (ปี 62-66) หนุนมีกำลังผลิตในมือเพิ่มเป็นราว 5,400 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจจุบันที่มีอยู่ 4,986 เมกะวัตต์ โดยการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้คืนเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้ซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ก่อนจะออกหุ้นกู้และกู้เงินระยะยาวไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาส 4/62 มาทดแทน ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ต่อทุน (D/E) เหลือ 1 เท่า จาก 2.5 เท่าขณะนี้

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC เปิดเผยว่า การเพิ่มทุนเกือบเท่าตัวครั้งนี้แม้จะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมาก แต่เชื่อว่าบริษัทจะมีศักยภาพการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 63 มากกว่าระดับปกติ เนื่องจากเมื่อรวมกับ GLOW จะทำให้บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อขีดความสามารถการจ่ายปันผลที่ดีขึ้นด้วย

"การกำหนดจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นกับราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ทางฝ่ายบริหารได้คำนวณแล้วว่าเรามั่นใจว่าในเรื่องของการสร้างพลังร่วม หรือ Synergy ของ GLOW น่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากพอจะไม่ทำให้ขีดความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของเราด้อยลง และน่าจะดีขึ้น"นายชวลิต กล่าว

GPSC ประกาศแผนเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,321.43 ล้านหุ้น จากเดิม 1,498.3 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท โดยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 0.8819 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 56 บาท เพื่อระดมเงิน 7.4 หมื่นล้านบาท และเตรียมออกหุ้นกู้และกู้เงินระยะยาวไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อระดมเงินใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นราว 1.3 แสนล้านบาทที่ใช้ซื้อกิจการ GLOW ซึ่งเป็นการกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ,บมจ.ปตท. (PTT) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยการชำระคืนหนี้ดังกล่าวจะทำให้ D/E ลดลงจาก 2.5 เท่า ลงเหลือระดับ 1 เท่า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4/62 พร้อมกับการเพิกถอนหุ้น GLOW จากตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนธ.ค.62

นายชวลิต กล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างเงินทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีเงินทุนเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนอย่างน้อย 5 ปี (ปี 62-66) ที่คาดว่าจะมีกรอบวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ตามแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ ซึ่งจะผลักดันให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็น 5,400 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มี 4,986 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่จะหมดอายุในช่วงปี 62-68 รวม 900 เมกะวัตต์ และจะมีการสร้างทดแทน 600 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 65-68 ,

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในลาว ที่จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ , โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 ในลาว ที่เริ่ม COD แล้วเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ,โครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จ.ระยอง แห่งที่ 3 ส่วนขยาย (CUP-3) และแห่งที่ 4 (CUP-4) จะเริ่ม COD ปีนี้ , โรงไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) จะเริ่ม COD ในปี 66 , โรงไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย จะเริ่ม COD ปี 63 , โรงไฟฟ้าขยะ ในจ.ระยอง เริ่ม COD ปี 64 ,โซลาร์ฟาร์ม 40 เมกะวัตต์ที่ COD แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการซื้อกิจการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงโรงไฟฟ้าตามโครงการ Gas to Power ในเมียนมา ขนาด 600 เมกะวัตต์ ร่วมกับบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ด้วย ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้เร็ววันนี้ หลังจากที่ส่งแผนให้กับทางการเมียนมาเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ตามแผน 5 ปีดังกล่าว จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลอีก 500 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีก 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่กว่า 400 เมกะวัตต์ ขณะที่ระยะยาว ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่วางแผนจะให้กลุ่ม ปตท.มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในมือเพิ่มอีก 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากภายในประเทศและยังมองหาโอกาสต่างประเทศที่มีศักยภาพทั้งพลังงานลมและโซลาร์ อย่างเวียดนามและไต้หวัน เป็นต้น

นายชวลิต กล่าวว่า ภายหลังรวมกิจการกับ GLOW ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการ Synergy ระหว่างกัน เบื้องต้นวางเป้าจะเพิ่มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อีก 1,600 ล้านบาท/ปี โดยจะเริ่มทยอยเห็นผลตั้งแต่ปี 63 และจะเห็นได้ชัดตามเป้าหมายภายในปี 67 โดยการ Synergy ร่วมกันในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการด้านต้นทุน การพัฒนาบุคลากร แผนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ แผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า และแผนการจัดหาอุปกรณ์เพื่อการซ่อมบำรุง

รวมถึงความพร้อมในการรองรับการให้บริการในด้านต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ประกอบการในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยในส่วนพนักงานที่ GLOW มีอยู่กว่า 800 คน และพนักงาน GPSC ที่มีกว่า 300 คน ก็จะนำมาเป็นพลังร่วมในการรองรับการเติบโต ที่ประกอบด้วย การเติบโตพร้อมกับกลุ่มปตท. ,การขยายลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ และการพัฒนาธุรกิจใหม่

ในอนาคตบริษัทก็จะสานต่อโครงการในมือที่ GLOW ที่มีอยู่อย่างโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ Lemro ในเมียนมา ขนาดหลายร้อยเมกะวัตต์ ก็จะหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาโครงการต่อกับรัฐบาลเมียนมา หลังจากที่โครงการได้หยุดชะงักลงในช่วงการเข้าซื้อกิจการ , มีความเป็นไปได้ในการรับโอนกิจการธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติมของกลุ่มปตท.เข้ามาเป็นของบริษัท ตามแผนการจัดโครงสร้างของธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท. โดยมี GPSC เป็นเรือธงการทำธุรกิจ

นายชวลิต ยังกล่าวถึงโครงการความคืบหน้าการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอนำเซลล์แบตเตอรี่จากเทคโนโลยี 24M ที่ผ่านการทดลองจากห้องแล็ปมาทดลองใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในช่วงเดือนส.ค.ว่าโครงการจะมีการเดินหน้าอย่างไรต่อไป

ด้านนางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร GPSC เปิดเผยว่า ภายหลังการรวมกิจการกับ GLOW กระแสเงินสดจะเพิ่มเป็นราว 2 หมื่นล้านบาท/ปี โดยมาจากกระแสเงินสดของ GPSC กว่า 5 พันล้านบาท/ปี ส่วนที่เหลือมาจากกระแสเงินสดของ GLOW ที่ได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี ขณะที่การเพิ่มทุน รวมถึงออกหุ้นกู้และกู้เงินระยาว เพื่อระดมเงินทั้งหมดมาใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น 1.3 แสนล้านบาทนั้น จะทำให้ภาระจ่ายดอกเบี้ยลดลงในปี 63 จากปีนี้ที่มีภาระจ่ายดอกเบี้ยกว่า 3 พันล้านบาท

ส่วนการออกหุ้นกู้ หรือกู้เงินระยะยาวจะมีสัดส่วนเท่าใดนั้น อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด และเป็นไปตามสภาวะตลาดเงิน ,อันดับความน่าเชื่อถือ และสภาพคล่องที่เหมาะสมด้วย

ทั้งนี้ มั่นใจว่าผู้ถือหุ้นของ GPSC น่าจะสนับสนุนแผนการระดมเงินเพิ่มทุน 7.4 หมื่นล้านบาท และใช้สิทธิเพิ่มทุนครบทั้งจำนวนเพราะการรวมกิจการกับ GLOW จะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัทและเพิ่มกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้นตั้งแต่ปีหน้า ก็จะสามารถจ่ายปันผลได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ผลประกอบการปี 63 ขณะที่ผลประกอบการในปี 62 อาจจะยังถูกกระทบจากภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงจากการกู้เงินระยะสั้นในการเข้าซื้อกิจการ และการ Synergy กับ GLOW อาจจะยังไม่ได้มากนัก

ปัจจุบันหุ้นของบริษัทมีฟรีโฟลตอยู่ราว 25% โดยในส่วนนี้เป็นนักลงทุนรายย่อยและสถาบันอย่างละครึ่ง อย่างไรก็ตามหากผู้ถือหุ้นรายย่อยใช้สิทธิไม่ครบ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในส่วนนี้

"ที่ผ่านมา GLOW นับว่าเป็น dividend stock มี dividend yield ประมาณ 6% แต่ GPSC เป็นหุ้นที่มี growth ไม่ใช่หุ้นปันผล dividend yield ประมาณ 2% เราจัดสรรเงินเพื่อจ่ายปันผลและใช้รองรับการลงทุน เมื่อรวมกับ GLOW แล้ว เราก็จะยังคงเป็น growth stock"นางวนิดา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ