ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นลบ. ของ TRUE ที่"BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 6, 2019 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ระดับ "BBB+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ "A-" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนด

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ดีของบริษัทซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมที่ครบวงจรด้วยการมีโครงข่ายที่ครอบคลุมทั้งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) จะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยกดดันจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก

ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รายได้จากการให้บริการของทรูโมบายซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) ยังคงเติบโตในอัตราที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 รายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่า IC อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1% บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้คิดเป็นสัดส่วน 29% เทียบกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่มีสัดส่วน 48% และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่มีสัดส่วน 23% ในส่วนของทรูออนไลน์นั้น รายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท ลดลง 2.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว บริษัทมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 2.58 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562 รายได้รวมอยู่ที่ 3.33 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีสาเหตุหลักจากรายได้ค่าเช่าโครงข่ายและรายได้จากการขายสินค้าที่ลดลง บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านบาทซึ่งคงที่จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 6.9 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 8.1% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 70.1% ณ เดือนมีนาคม 2562 จากระดับ 68.8% ในปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง อันเป็นผลเนื่องมาจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 15) ที่ทำให้บริษัทต้องตัดจ่ายต้นทุนการได้มาของผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นล้านบาทออกจากกำไรสะสม

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้และจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นหลักของบริษัททั้ง 2 รายคือเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นและลดความเสี่ยงจากภาระทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ในระดับเกินกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาแต่ในอดีต เช่น ประเด็นเรื่องส่วนแบ่งรายได้ หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต น่าจะยังต้องใช้เวลากว่าที่จะมีผลสิ้นสุด โดยที่อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ