(เพิ่มเติม) PSH หั่นเป้ายอดขาย-รายได้ปี 62 รับผลกระทบจากศก.ชะลอตัว-มาตรการ LTV พร้อมปรับกลยุทธ์เจาะ real demand

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 13, 2019 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) เปิดเผยว่า บริษัทปรับลดเป้ายอดขายในปี 62 ลดลงเหลือ 5 หมื่นล้านบาท จากเดิมตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกยอดขายของบริษัททำได้ 2.34 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อและการตัดสินใจซื้อที่ชะลอตัวตาม ทำให้กระทบต่อภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ยอดขายทั้งตลาดปรับตัวลดลง 8% และกระทบมาถึงยอดขายของบริษัทด้วย

ขณะเดียวกันปรับลดจำนวนการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้เหลือ 40 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 4.74 หมื่นล้านบาท จากเดิมวางแผนจะเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ 55 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 6.81 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลยุทธ์การขายในครึ่งปีหลังบริษัทจะเน้นการขายกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการจริงมากขึ้น พร้อมกับการทำการตลาดแบบ Digital Marketing เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขาย และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่มากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง โดยในครึ่งปีหลังจะเปิดโครงการใหม่อีก 26 โครงการ มูลค่ารวม 2.68 หมื่นล้านบาท

"ภาพรวมที่ยังไม่ค่อยดีแบบนี้ ทำให้ครึ่งปีหลังเราจะต้องโฟกัสไปที่เนื้อ ๆ มากขึ้น เราจะทำสะเปะสะปะไม่ได้แล้ว เราต้องเจาะให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และสามารถครองเป็นอันดับ 1 ในตลาดได้ ซึ่งเรามีข้อมูลที่สามารถเข้ามาช่วยวิเคราะห์ตลาดและลูกค้าได้ โดยกลุ่มที่เราจะเน้นในครึ่งปีหลังที่จะลงไปเจาะมาก ๆ ก็เป็นทาวน์เฮาส์ ราคา 3-5 ล้านบาท บ้านเดี่ยว ราคา 5-7 ล้านบาท และคอนโด ราคา 2-3 และ 3-5 ล้านบาท"นางสุพัตรา กล่าว

นางสุพัตรา กล่าวว่า บริษัทยังได้ปรับลดเป้าหมายรายได้ในปีนี้เหลือ 4.5 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่ 4.7 หมื่นล้านบาท หลังรายได้ในครึ่งปีแรกทำได้ 1.96 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตการ LTV ที่มีผลตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ยอดโอนเกิดการชะลอตัว และกระทบต่อยอดโอนในช่วงไตรมาส 2/62 หดตัวลงอย่างมาก กระทบยอดโอนเทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียม ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะพยายามเร่งการโอนโครงการทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวให้มากขึ้น เพื่อมาผลักดันยอดโอนให้เป็นไปตามเป้าหมายใหม่ที่บริษัทปรับลงมา โดยที่ในครึ่งปีหลังบริษัทจะมีการโอนโครงการจากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) อีก 1.74 หมื่นล้านบาท จาก Backlog ทั้งหมดที่มี 3.69 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นขึ้นได้ หลังจากปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง กระทบจากปัจจัยภายนอกและภายใน รวมไปถึงมาตรการที่จะเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มีตัวแทนไปเสนอกับทางภาครัฐมาบ้างแล้ว ซึ่งบริษัทมองว่าหากภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ยังชะลอตัวแบบนี้ จะส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็กไม่สามารถอยู่รอดในธุรกิจได้ แต่ในส่วนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ หากมีการบริหารจัดการด้านการเงินและสภาพคล่องที่ดี ยังสามารถดำเนินธุรกิจไปต่อได้

นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ในช่วงเดือนก.ย. มูลค่า 6 พันล้านบาท อายุ 3 ปี เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ และนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งมองว่าการออกหุ้นกุ้ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำลง หลังจากที่แนวโน้มของดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงด้วย

ด้านนายธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-ทาวน์เฮาส์ ของ PSH กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทาวน์เฮาส์ในครึ่งปีหลังจะปรับสัดส่วนทาวน์เฮ้าส์ระดับกลาง-บน เพิ่มขึ้นมาเป็น 20% จากเดิมที่ 10% และลดสัดส่วนทาวน์เฮ้าส์ระดับล่าง-กลาง เป็น 80% จากเดิมที่ 90% เนื่องจากบริษัทเห็นถึงภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันที่ตลาดระดับล่างมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท และมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง ทำให้ปรับสัดส่วนมาจับกลุ่มระดับกลาง-บนมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีความสามารถในการกู้ที่มากขึ้น

อีกทั้งหลังจากมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการโอน เพราะปัจจุบันอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของลูกค้าที่ซื้อทาวน์เฮ้าส์ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาเป็น 7-8% จากต้นปีที่ 6% และสัดส่วนลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อในช่วง Pre-approve เพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิมที่ 10% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นการกู้สัญญาที่ 2 ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าดังกล่าวราว 30% ทำให้มีการถูกปฏิเสธมากขึ้น

ขณะเดียวกันหากมีมาตรการควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (DSR) ออกมาควบคุมการให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 70% ของรายได้ สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ 30,000 บาท/เดือน บริษัทมองว่าจะส่งผลกดดันต่อการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการกู้ลดลง ขณะที่คาดว่าในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าสัดส่วนทาวน์เฮ้าส์ของพฤกษาระดับกลาง-บนจะเพิ่มเป็น 40% และระดับล่าง-กลางจะลดลงมาเป็น 60% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่บริษัทมองว่ามีความเหมาะสม

"ปีนี้มองว่าเป็นปีปรับฐานของตลาดอสังหาฯ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังในส่วนของตลาดทาวน์เฮ้าส์คาดว่าจะหดตัวลงมากกว่าครึ่งปีแรกที่หดตัว 5% ซึ่งการที่ครึ่งปีหลังมีการหดตัวลงแรง เพราะในช่วงปลายปีก่อนมีการโอนอย่างมาก ทำให้ครึ่งปีหลังของปีนี้จะหดตัวลงมาจากฐานของปีก่อนที่สูง ซึ่งบริษัทมองว่าปีนี้ตลาดทาวน์เฮ้าส์จะหดตัว 7%"นายธีรเดช กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ