"ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์"ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 109.30 ล้านหุ้น เข้า SET ใช้ขยายธุรกิจ-คืนเงินกู้-เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 25, 2019 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ ยื่นไฟลิ่ง Filing version แรก เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2562 เนื่องจากบริษัทฯต้องการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 109.30 ล้านหุ้นคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน ร้อยละ 21.86 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรกนี้ โดยเป็นหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทเสนอขายจำนวนไม่เกิน 90 ล้านหุ้น และเป็นหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จำนวนไม่เกิน 19.30 ล้านหุ้น ทั้งนี้บริษัทฯมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีบล.บัวหลวงเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์กับกลุ่มที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือกลุ่มผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯ มีวงเงินกู้ยืมกับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.9 ของบล.บัวหลวง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายของบริษัทฯ โดยแบ่งเป็นประเภท วงเงินกู้ยืมระยะสั้นรวมจำนวน 150.0 ล้านบาท และวงเงิน Forward Contract รวมจำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯ มียอดเงินซื้อ Forward Contract คงค้าง 0.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้การขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและประเทศอื่นที่มีศักยภาพ รวมถึงใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำชั้นนำของประเทศไทย โดยบริษัทฯ มีปริมาณการขายอาหารปลากะพงคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 49 ของปริมาณการขายอาหารปลากะพงในประเทศไทย มีปริมาณการขายอาหารกุ้ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 18 ของปริมาณการขายอาหารกุ้งในประเทศไทย และปริมาณการขายอาหารปลาของบริษัทฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณการขายอาหารปลาในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากการมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและมีความสม่ำเสมอ รวมถึงมีความหลากหลายและสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมถึงมีราคาที่แข่งขันได้

ทั้งนี้ การขายเกือบทั้งหมดของบริษัทฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 95 ของรายได้จากการขายในปี 2559 - 2561 เป็นการผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัทฯ ซึ่งมีแบรนด์สินค้าหลัก ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED) เอฟซีอาร์ (FCR) นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอคควาฟีด (AQUAFEED) กบทอง และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น และการจำหน่ายสินค้าในสัดส่วนที่เหลือ ประมาณร้อยละ 5 ของรายได้จากการขายในปี 2559 - 2561 เป็นการผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์สินค้าของผู้อื่น (OEM)

บริษัทฯ มีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ และเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ เนื่องจากโดยทั่วไป การแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารกุ้งและอาหารปลาเป็นการแข่งขันภายในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้บริษัทฯ มีฐานลูกค้าสำคัญเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ และเป็นลูกค้าโดยตรง (Direct Sale) ทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 91-94 ของรายได้จากการขายรวมของบริษัทฯ ในปี 2559 – 2561 ในขณะที่รายได้สัดส่วนที่เหลือ ประมาณร้อยละ 6-9 ของรายได้จากการขายรวมของบริษัทฯ ในปี 2559 – 2561 เป็นรายได้จากการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย และศรีลังกา เป็นหลัก ซึ่งมีทั้งในกรณีที่บริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยตรง (Direct Sale) และขายผ่านร้านค้าจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2562 บริษัทฯ ยังได้มีการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์บก ซึ่งได้แก่ อาหารไก่ อาหารเป็ด และอาหารสุกร เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ของเครื่องจักรที่มีอยู่ซึ่งใช้ในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดยปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้สามารถผลิตอาหารสัตว์บกได้ด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์รวมเท่ากับ 312,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น กำลังการผลิตอาหารกุ้ง 210,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตอาหารปลา 72,000 ตันต่อปี และกำลังการผลิตอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี

งบการเงินรวมของบริษัทฯสำหรับงวด 6 เดือน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 2,246.2 ล้านบาท หนี้สินรวม 610.7 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 1,635.5 ล้านบาท โดยบริษัทฯมีรายได้รวม 2,538.4 ล้านบาท ต้นทุนขาย 1,878.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 509.3 ล้านบาท

บริษัทฯ มีกำไรเบ็ดเสร็จรวม เท่ากับ 566.2 ล้านบาท 125.2 ล้านบาท และ 402.5 ล้านบาท ในปี 2559 2560 และ 2561 ตามลำดับ และบริษัทฯ มีกำไรเบ็ดเสร็จรวม เท่ากับ 188.4 ล้านบาท และ 517.7 ล้านบาท ในงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และ 2562 ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงของกำไรเบ็ดเสร็จโดยหลักมาจากผลขาดทุนที่เกี่ยวเนื่องกับเงินลงทุนในการร่วมค้า (TMAC) ซึ่งบริษัทฯ ได้จำหน่ายออกไปในระหว่างปี 2561 สำหรับการลดลงของกำไรเบ็ดเสร็จรวมของบริษัทฯ ในปี 2560 เป็นผลมาจากการตั้งค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าเงินลงทุนใน TMAC จำนวน 472.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดเพียงครั้งเดียว (One-time Expense) และการเพิ่มขึ้นของกำไรเบ็ดเสร็จรวมของบริษัทฯ ในปี 2561 เป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ ไม่มีค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าเงินลงทุนใน TMAC

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน TMAC จำนวน 116.9 ล้านบาท ในปีดังกล่าว ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของกำไรเบ็ดเสร็จรวม จาก 188.4 ล้านบาท ในงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เป็น 517.7 ล้านบาท ในงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 เป็นผลมาจาก (1) กำไรจากการจำหน่ายที่ดินที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักในการดำเนินงาน (Non-core Operating Asset) (หลังค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้) จำนวน 230.2 ล้านบาท และ (2) การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและอัตรากำไรสุทธิที่สูงขึ้น โดยหลักเป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของกำไรขั้นต้น และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องและบรรลุถึงเป้าหมายของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ โดยบริษัทฯ มีแผนการลงทุนในช่วงปี 2562 – 2563 ดังนี้ การขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯ ได้เข้าทำความร่วมมือทางการค้ากับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่ม PT MSK ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารแช่แข็งรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย และ (2) กลุ่ม AVANTI ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินเดีย เพื่อลงทุนและจัดตั้ง TUKL ขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียดังกล่าว โดยบริษัทฯ PT MSK และกลุ่ม AVANTI (ถือหุ้นผ่าน AVANTI และ Srinivasa) มีสัดส่วนการถือหุ้นใน TUKL เท่ากับร้อยละ 65.0 ร้อยละ 25.0 และร้อยละ 10.0 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ TUKL ตามลำดับ ส่งผลให้ TUKL ถือเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยภายในปี 2563 การดำเนินธุรกิจ TUKL จะมุ่งเน้นในการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งเป็นหลัก

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่า TUKL จะต้องใช้เงินลงทุนในช่วงแรกสำหรับการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้ง รวมประมาณ 20.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 633.8 ล้านบาท

ปัจจุบัน TUKL ได้มีการจัดซื้อที่ดินซึ่งจะใช้เป็นที่ตั้งของโรงงานแล้วบางส่วน และอยู่ระหว่างการเตรียมงานสำหรับการก่อสร้างอาคารโรงงาน และได้เริ่มเข้าปรับพื้นที่ถมที่ดินในเดือนกรกฎาคม 2562 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและสามารถเริ่มการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งได้ภายในปี 2563 โดยในระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร TUKL จะทดลองตลาดโดยการนำเข้าอาหารกุ้งที่ผลิตโดยโรงงานของบริษัทฯ ในประเทศไทยเพื่อไปจำหน่ายและทำการตลาดในประเทศอินโดนีเซียเป็นการล่วงหน้า ทั้งนี้ ในปัจจุบัน TUKL อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าและคาดว่าจะนำเข้าสินค้าเพื่อไปจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2563

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอาหารปลา โดยบริษัทฯ มีแผนขยายกำลังการผลิตอาหารปลาเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เนื่องมาจากในปัจจุบัน ความต้องการอาหารปลาของลูกค้าบริษัทฯ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารปลากะพงยักษ์ ซึ่งเป็นผลมาจากที่บริษัทฯ ได้ค้นคว้า วิจัย และพัฒนา เพื่อพัฒนาอาหารปลาให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสามารถใช้อาหารเม็ดในการเลี้ยงเพื่อทดแทนการใช้เหยื่อสด เช่น ปลาสด หรือปลาเป็ด (Trash fish) ซึ่งอาหารเหยื่อสดค่อนข้างมีข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณ และไม่สามารถควบคุมความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลากะพงที่กินอาหารเหยื่อสดเหล่านั้น

ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการของเกษตรกร จึงมีแผนขยายกำลังการผลิตอาหารปลาเพิ่มขึ้น อีก 1 สายการผลิต ภายในปี 2563 เพื่อให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 18,000 ตัน ต่อปี โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท การขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะมีส่วนช่วยรองรับปริมาณความต้องการอาหารปลาที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ในอนาคต

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000,000,000 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้วทั้งสิ้น 820,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 410,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2.0 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ TU และบริษัทฯ และประชาชน ในครั้งนี้แล้ว บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วทั้งสิ้น ไม่เกิน 1,000,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 500,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2.0 บาท

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2562 ประกอบด้วย บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ถือหุ้น 274,300,075 หุ้น คิดเป็น ร้อยละ 66.9หลังเสนอขาย IPO จะถือหุ้น 255,000,075 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 51 , กลุ่มนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ถือหุ้น 63,437,300 หุ้น คิดเป็น ร้อยละ 15.5 หลังเสนอขาย IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือร้อยละ 12.7

บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 50.0 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม หลังจากการหักทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามข้อบังคับของบริษัทฯ และตามกฎหมายแล้ว


แท็ก SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ