สัญญาณ"แรงขาย"เขย่าตลาดหุ้นไทย"กูรู"เตือนโค้งสุดท้ายหวั่นหลุด 1,600 จุด!

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 26, 2019 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นไทยโค้งสุดท้ายของปีนี้เห็นแนวโน้มความเสี่ยงขาลง หลังเกิดสัญญาณ "แรงขาย"ในช่วงสั้นกดดันดัชนีฯตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.62 ไหลลงจากระดับสูงสุดแถว 1,748 จุด ล่าสุดลงมาแกว่งตัวใกล้ 1,600 จุดอีกครั้ง

แม้ว่าตามสถิติแล้วความหวังการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย มักจะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่ปัจจัยลบที่ยังคงเข้ามากระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ความเสี่ยงขาลงของดัชนีฯเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น

*นักลงทุนผวา"สงครามการค้า"กดดันเศรษฐกิจโลก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า แรงขายในตลาดหุ้นไทยระลอกล่าสุดเกิดขึ้นจากความกังวลที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯพยายามกดดันจีนรอบใหม่ด้วยมาตรการภาษี แม้จะมีความคาดหวังการตั้งโต๊ะเจรจารอบใหม่ช่วงต้นเดือน ต.ค. แต่จากการโยกย้ายเงินลงทุน สะท้อนว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนลดน้อยลง โดยเฉพาะยิ่งเข้าใกล้เดือน ต.ค.นักลงทุนส่วนใหญ่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะการเจรจาอย่างเป็นทางการเท่าที่ผ่านมา สุดท้ายก็ยังมีความขัดแย้งกันเช่นเดิม จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบสงครามการค้า ยังได้เชื่อมโยงมายังภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน สะท้อนจากการที่หลายหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชนได้ปรับลดประมาณตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปีนี้ไปแล้ว 2-3 ครั้ง ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนของไทยในปีนี้มีแนวที่จะย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ

อนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยข้อมูลยอดขายของหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือบริษัทที่จดทะเบียน (บจ.) กว่า 679 หุ้นครึ่งแรกปี 62 อยู่ที่ 5.53 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 373,000 ล้านบาท ลดลง 17.1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 424,068 ล้านบาท ลดลง 21.5%

"GDP หลายประเทศอ่อนตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะมีความเปราะบางเรื่องเศรษฐกิจอยู่แล้ว ก่อนถูกซ้ำเติมด้วยสงครามการค้า เป็นสาเหตุให้เงินทุนเกิดการโยกย้ายเม็ดเงิน เพราะสินทรัพย์เสี่ยงไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนในอดีตแล้ว นักลงทุนหันมาปรับพอร์ตลดน้ำหนักลงทุนในหุ้นหรือตราสารที่มีความเสี่ยง กระจายเข้าไปลงทุนในพันธบัตรและทองคำกันมากขึ้น สะท้อนจากตั้งแต่ต้นปีผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำปรับตัวขึ้นไปเกือบ 20% พันธบัตรขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแค่ 3-4% เท่านั้น เป็นเหตุให้เสน่ห์ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นน้อยลง แม้ในช่วงดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแต่ก็โดนขายทำกำไรออกมาทันที มาไม่ถึง 1,700 จุด ก่อนจะกลับมาเทรดในกรอบประมาณ 1,600 จุดต้นๆ"นายมงคล กล่าว

*คาดกองทุนแห่ขายบิ๊กแคป หมุนซื้อหุ้นไอพีโอ AWC-หุ้นเพิ่มทุน GPSC

นักกลยุทธ์รายนี้ มีมุมมองเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้เกิดแรงขายกระทบกับสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทย น่าจะมาจากการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแก (ไอพีโอ) บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คิดเป็นเงินระดมทุนรวม 2 ดีลประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง แม้ว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะมีเงินทุนเตรียมพร้อมไว้แล้ว แต่ก็มีนักลงทุนบางกลุ่มจำเป็นต้องขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาเพื่อนำเงินบางส่วนมาจองซื้อหุ้น 2 ตัวนี้ ดังนั้นจึงมองว่ามีผลกระทบจากการดึงสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยออกมาไปบางส่วน

"ยังไม่สามารถคาดเดาได้ถึงผลกระทบการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดหุ้นไทยไปมากแค่ไหนจากดีล IPO ของ AWC และการเพิ่มทุนของ GPSC แต่เราจะเห็นว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่นำตลาดก่อนหน้านี้เผชิญแรงขายออกมาเป็นระยะ อาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่านักลงทุนกำลังระดมเงินสดของตัวเอง เพื่อนำไปป้องกันความเสี่ยงในอนาคต หรือบางส่วนปรับพอร์ตเพื่อนำไปลงทุน

ปัจจุบันกลุ่มนักลงทุนที่ขายมากที่สุดในตลาดหุ้นไทยเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่รายย่อยเชื่อว่าไม่น่าจะขายมากนัก เพราะราคาหุ้นลงมามาก ถ้าขายหุ้นช่วงนี้ก็อาจเกิดผลขาดทุนหนัก ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็มีส่วนในการขายหุ้นไทยอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันการพิจารณาเม็ดเงินไหลเข้าออกในตลาดหุ้นไทยยังมองค่อนข้างยาก เพราะมีการทำธุรกรรมบนตลาดหุ้นไทยด้วยทั้งตลาดหุ้นและ TFEX"นายมงคล กล่าว

ทั้งนี้ หากประเมินผลกระทบต่อสภาพคล่องที่หดหายไปในตลาดหุ้นไทยจากกรณีการเสนอขายหุ้นไอพีโอของ AWC และเพิ่มทุน GPSC คาดว่าไม่น่าเกิน 3 สัปดาห์สภาพคล่องในตลาดฯจะกลับมาดีขึ้นช่วงกลางหรือปลายเดือน ต.ค. แต่สภาพคล่องไม่ได้กลับมาหมด เพราะผู้ลงทุนที่จองซื้อหุ้น AWC ไม่ได้ขายหุ้น AWC ออกมาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดฯต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญคือผลการเจรจาการค้าสหรัฐฯและจีนที่จะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือน ต.ค. ถ้าหากมีความชัดเจนทางบวกของทั้ง 2 ปัจจัย น่าจะช่วยผลักดัน SET INDEX กลับมาฟื้นตัวได้ระยะสั้นอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้

*SET Index โค้งสุดท้ายปีนี้เสี่ยงหลุด 1,600 จุด

นายมงคล กล่าวว่า ภาพรวม SET Index ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย Upside มีค่อนข้างน้อย คาดว่าดัชนีฯไม่น่าจะผ่านระดับ 1,700 จุด ภายใต้สมมติฐานการเจรจาการค้าสหรัฐฯและจีนบรรลุได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเห็น Downside มากกว่า เพราะที่ผ่านมาผลการเจรจาการค้ามักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยซ้ำเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นสัญญาณการปรับลดประมาณการ แม้ว่าตลาดหุ้นไทยสะท้อนกับปัจจัยลบไปแล้วระดับหนึ่ง แต่หากเศรษฐกิจของจีนและยุโรปยังไม่ฟื้น จะกระทบผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในระยะถัดไป

สำหรับ Downside ในไตรมาสสุดท้ายของปีมีโอกาสเห็นดัชนีปรับตัวลดลงแตะ 1,600 จุด หรืออาจหลุด 1,600 จุดอีกครั้ง ตัวแปรสำคัญ คือ ผลการเจรจาการค้า และมีประเด็นใหม่คือโรงกลั่นน้ำมันซาอุดีอาระเบียถูกโจมตี แม้ว่าซาอุฯ จะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันให้กลับมาเท่าเดิม แต่ต้องติดตามท่าทีการตอบโต้ของซาอุฯ ที่คิดว่าเป็นประเทศที่โจมตีนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ในกรณีเลวร้ายถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปัจจัยลบ เพราะทุกวันนี้มีความกังวลกับเศรษฐกิจอยู่แล้ว หากมีสงครามหรือความไม่สงบเกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นไปอีก

ขณะที่ปัจจัยบวกในประเทศที่เป็นจุดแข็ง คือการแข็งค่าเงินบาทปัจจุบันแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆของโลก สะท้อนเป็นแหล่งพักเงิน มีความเสี่ยงต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งช่วยประคองเศรษฐกิจ โดยล่าสุดมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่าน"ชิมช้อปใช้" และไทยแลนด์ พลัส โดยตลาดฯมองปัจจัยนี้เป็นบวกช่วยพยุงดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงสั้น

*กำไร บจ.ไตรมาส 4/62 เป็นห่วง"เซอร์ไพรส์"ทางลบมากขึ้น

นายมงคล กล่าวว่า กำไร บจ.ในช่วง 6 เดือนอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% ของประมาณการทั้งหมด ซึ่งฝ่ายวิจัยฯจะประเมินกำไร บจ.ทั้งปีนี้อยู่ที่ 9.6 แสนล้านบาท โดยกำไร บจ.ในไตรมาส 3/62 คาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/62 จากเดิมคาดหวังในไตรมาสสุดท้ายของปีจะเติบโตได้ดี แต่หากเกิดกรณีของซาอุฯ และความขัดแย้งสงคราการค้ายกระดับรุนแรงขึ้นในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ ก็จะมีผลกระทบประมาณการกำไร บจ.ให้เกิดความเสี่ยงที่จะสร้าง"เซอไพรส์"เชิงลบในไตรมาสสุดท้ายให้แย่กว่าคาดได้เช่นกัน

"การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย ถ้านำเอาสมมติฐานอิงค่า Forward P/E ที่ระดับ 16 เท่า ดัชนีฯมีแนวรับสำคัญอยู่ที่ 1,580 จุด แต่จะลงไปลึกถึงขั้น 1,540 จุดที่เคยเกิดขึ้นปลายปีนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะตลาดตอบสนองกับปัจจัยลบไปส่วนหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะมีแรงขายออกมาบ้าง แต่ก็มีแรงซื้อกลับคืนเช่นกัน สะท้อนว่าตลาดมีแรงซื้อคืน แต่นักลงทุนก็มีการเกี่ยงราคาอยู่บ้าง อาจอยากซื้อใกล้ๆ 1,600 จุด นั้นก็เป็นอีกสาเหตุที่โอกาสหลุด 1600 จุดก็ไม่ง่ายเช่นกัน

วันนี้หุ้นบิ๊กแคปดีๆ แต่ราคายังไม่ขึ้น หาค่อนข้างหายาก นักลงทุนเวียนเทรดหุ้นไม่กี่กลุ่ม เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มสื่อสาร เป็น 2 กลุ่มที่นักลงทุนยังสบายใจ แต่ราคาค่อนข้างแพง และอีกพฤติกรรมคือนักลงทุนมาเทรดเวียนกลุ่มในหุ้น 5-6 กลุ่มที่ราคาลงมาลึก อาทิ กลุ่มโรงแรม ,อิเล็กทรอนิกส์ ,กลุ่มธนาคาร ,กลุ่มปิโตรเคมี ,กลุ่มโรงกลั่น และกลุ่มโรงพยาบาล"นายมงคล กล่าว

*ชูหุ้นเด่น BGRIM-ERW รับมือหุ้นผันผวน เลี่ยงกลุ่มอิเล็กฯ,สินค้าโภคภัณฑ์

นายมงคล กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี มองว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยง คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากผลกระทบเงินบาทแข็งค่า และสงครามการค้า และอีกกลุ่มคือ Commodity (สินค้าโภคภัณฑ์) อาทิ กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี ที่มีความเสี่ยงความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวังคือกลุ่มธนาคาร แม้ว่าราคาจะปรับตัวลดลงมาลึก แต่โอกาสจะปรับตัวขึ้นค่อนข้างยาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐไม่ได้ส่งผลบวกกับเศรษฐกิจ อาจเป็นปัจจัยทำให้คุณภาพสินเชื่อแย่ลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อาจถูกปรับลดลง จะเป็นปัจจัยกดดันกำไรของกลุ่มธนาคารได้ในระยะถัดไป

สำหรับหุ้นแนะนำในไตรมาส ยังคงเลือกหุ้นเป็นตัวใน Sector ที่มีความปลอดภัย ประกอบด้วย กลุ่มโรงไฟฟ้า หุ้นเด่นคือ BGRIM เนื่องจากผลประกอบการเติบโตสม่ำเสมอตามการรับรู้รายได้โครงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่ยังมีโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่นิคมอุสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งมีส่วนได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น แม้ว่าฝ่ายวิจัยฯจะประเมินมูลค่าเหมาะสม 39 บาท แต่ในเชิงกลยุทธ์มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นไปได้ถึง 45 บาท

และหุ้นกลุ่มโรงแรม หุ้นเด่นคือ ERW ปัจจุบันราคาปรับตัวลงมาก จากผลกระทบการท่องเที่ยวชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดพบว่านักท่องเที่ยวเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะในไตรมาส 4/62 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/63 ที่ปกติเป็นไฮซีซั่นการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงขาลงของราคาหุ้นค่อนข้างจำกัด ปัจจุบันประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 6 บาท/หุ้น แต่มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปเทรดแถว 7 บาทได้เช่นกัน

https://youtu.be/KdpwJIhNNPw


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ