TMB ผนึก TBANK ดันสินเชื่อรายย่อยเพิ่มทั้งบ้าน-รถ แต่ลด SME-รายใหญ่ มั่นใจจ่ายปันผลสูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 1, 2019 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่าง TMB และธนาคารธนชาต (TBANK) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย คือ การขายหุ้นบลจ.ธนชาต ให้กับบริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น โฮลดิ้งส์ จำกัด (Prudential) ซึ่งถือหุ้นทั้งหมด (โดยอ้อม) ในบริษัท อีสท์สปริง อินเวสท์เม้นทส์ (สิงคโปร์) จำกัด (Eastspring) คาดว่าดีลดังกล่าวจะมีมูลค่า 8.4 พันล้านบาท จากมูลค่าตามบัญชีที่ 400 ล้านบาท ทำให้ธนาคารจะมีกำไรจากการขายราว 8 พันล้านบาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีกำไรสุทธิจากการขายราว 4.2 พันล้านบาท โดยจะบันทึกในไตรมาส 4/62

การควบรวมกิจการทั้งสองธนาคารในครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นการร่วมกันบริหารธนาคารภายใต้คณะกรรมการชุดเดียวกันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งตามโควตาของผู้ถือหุ้นแต่ละราย ซึ่งหลังการควบรวมแล้วจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงการคลัง บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และกลุ่มไอเอ็นจี

ขณะที่โครงสร้างสินเชื่อของธนาคารจะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของสินเชื่อทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย โดยพอร์ตสินเชื่อรายย่อยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60-70% จากปัจจุบัน 50% จากการมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของ TBANK เข้ามาเสริม

ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีจะลดสัดส่วนลงเหลือ 20% จากปัจจุบัน 30% และส่วนที่เหลือจะเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยที่ในระยะยาวธนาคารมีแผนจะลดสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลงมาต่ำกว่า 20% ตามกลยุทธ์หลังการควบรวม ซึ่งจะเน้นการให้สินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงและเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ

นายปิติ กล่าวว่า ส่วนแผนด้านเงินฝากของธนาคารหลังจากการควบรวมจะมีการปรับรูปแบบของเงนฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูง ที่มาจากกลุ่มลูกค้าเงินฝากประจำของธนาคารธนชาตลดลง โดยจะเป็นการแนะนำให้ลูกค้าเงินฝากนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการบริหารต้นทุนเงินฝากให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารที่ต้องการลดสัดส่วนเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงให้ลดลง และนำธุรกิจบลจ.มาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าในการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร

"จุดเด่นทางด้านสินเชื่อหลังควบรวมทั้ง 2 ธนาคาร จะเด่นไปที่สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถ ที่ทั้ง 2 ธนาคารมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 สินเชื่อนี้เป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ส่วนธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านการลงทุนจะมาเป็นส่วนเสริมในการให้บริการลูกค้าเงินฝาก เพราะในอนาคตจะต้องมองเรื่องการการสร้างกำไร ลดต้นทุน และไม่เร่งเพิ่มขนาดสินทรัพย์ให้ใหญ่ขึ้น เพราะตอนนี้เราถือว่าเป็นแบงก์ใหญ่อันดับ 6 แล้ว"นายปิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสินเชื่อรวมในปี 62 ยอมรับว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 3-5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน และเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้สินเชื่อลดลง

นอกจากนั้น แนวโน้มสินเชื่อรวมในปี 63 คาดว่าจะติดลบ เนื่องจากธนาคารชะลอปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ เพราะเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนต่ำ และยังมีภาระในการตั้งสำรองเงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้น แต่ธนาคารจะหันไปเน้นสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งสินเชื่อรายย่อยมีวงเงินให้สินเชื่อต่อรายที่ต่ำกว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถชดเชยขนาดของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ลดลงไปได้ ทำให้สินเชื่อในปี 63 จะติดลบอย่างแน่นอน

นายปิติ กล่าวอีกว่า ธนาคารมองว่าแนวโน้มในการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหลังการควบรวม 2 ธนาคาร จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ในระดับสูง 14% ซึ่งเป็นระดับที่รองรับความเสี่ยงในให้สินเชื่อรายใหญ่ที่เพียงพอและหมาะสม ทำให้ความจำเป็นในการเพิ่มเงินกองทุนไม่มากเท่ากับในอดีต ทำให้ธนาคารสามารถนำกำไรจากการดำเนินงานมาจัดสรรเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างเต็มที่ ต่างจากในอดีตช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่ธนาคารมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่เพียงที่ 4.25% และขั้นที่ 2 อยู่ที่ 4.25% รวมแล้ว 8.50% ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างมากในรองรับความเสี่ยงจากสินเชื่อทธนาคารปล่อยให้กับลูกค้าไป ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมาธนาคารต้องนำกำไรมาใส่เพิ่มในเงินกองทุนขั้นที่ 1 ให้สูงขึ้น เพื่อทำให้ธนาคารมีเสถียรภาพ

"ตอนนี้บริษัทใหญ่สามารถระดมทุนด้วยตัวเอง เช่น การออกหุ้นกู้ การออกตราสารหนี้ และดอกเบี้ยถูกกว่าการมากู้แบงก์ ทำให้บริษัทใหญ่หลายๆบริษัทไม่ค่อยกู้แบงก์เหมือนเมื่อก่อน และการที่บริษัทใหญ่ไม่ค่อยมากู้มาก ทำให้เราไม่ต้องนำกำไรจากผลการดำเนินงานไปอัดใส่เงินกองทุนให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นคำถามที่นักลงทุนต่างชาติถามผมมาตลอดว่าทำไมเราต้องตั้ง Teir 1 สูง ไม่เอาเงินมาจ่ายปันผล โดยในอนาคตเราก็อยากนำกำไรมาจัดสรรเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้น"นายปิติ กล่าว

ด้านการบริหารจัดการพนักงานของธนาคารนั้นไม่มีนโยบายที่จะลดหรือปลดพนักงานออกแต่อย่างใด โดยที่ปกติในทุกๆปีพนักงานมีอัตราการลาออกราว 10-20% เพราะพนักงานของธนาคารจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากกว่าทำให้มีการเปลี่ยนงานบ่อยตามปกติ โดยที่ธนาคารไม่มีนโยบายลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งการลาออกของพนักงานปกติมีส่วนในการที่ช่วยธนาคารลดค่าใช้จ่ายลงได้ รวมถึงสาขาของธนาคารหลังการควบรวมจะมีการสาขาทั้งหมด 900 สาขา ซึ่งธนาคารจะมีการควบรวมสาขาให้ลดลงเหลือ 700 สาขา ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายของธนาคารได้อย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ