รมว.พลังงาน มอบ PTT ทำแผน HUB LNG เสร็จใน 2 เดือน คาดส่งออกล็อตแรกไปจีนต้นปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 11, 2019 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การเดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์ปฎิบัติการชลบุรีของ บมจ.ปตท.(PTT) ในวันนี้ มอบหมายให้ ปตท.จัดทำแผนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (HUB LNG) ในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 เดือน เพื่อนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติต่อไป ซึ่งการดำเนินการจะมีปตท.เป็นองค์กรหลัก และอาจจะมีผู้นำเข้า LNG ได้มากกว่า 1 ราย โดยมีเป้าหมายนำพื้นฐานของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติที่แข็งแกร่งของประเทศมาต่อยอดสร้างเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยต้นทุนพลังงานที่แข่งขันได้

"เมื่อได้แผนมาก็จะนำไปหารือเพื่อจัดทำเป็นนโยบายเสนอต่อกพช. ขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ การดำเนินการจะมีปตท.เป็นองค์กรหลัก และอาจมีผู้นำเข้ามากกว่า 1 ราย แต่รายละเอียดสัดส่วนจะเป็นอย่างไรยังไม่ได้กำหนด รอดูนโยบายว่าเป็นอย่างไร"นายสนธิรัตน์ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีโครงสร้างทั้งระบบการผลิต การบริหารจัดการของอุตสาหกรรมก๊าซฯที่ดี และมีความมั่นคง รวมถึงยังเป็นผู้นำเข้า LNG ซึ่งเป็นทิศทางเชื้อเพลิงในอนาคตของโลกเข้ามาใช้ด้วย โดยมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างคลัง LNG เพียงพอที่จะรองรับการเป็นผู้นำ LNG ในภูมิภาค ซึ่งไทยต้องเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินการเพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำ LNG ของภูมิภาค

ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนยังมีความต้องการก๊าซฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสของไทยในการกระจาย LNG ปริมาณไม่มากนักระดับ small scale ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ในรูปแบบของเรือขนส่งหรือรถขนส่ง

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท.มีความพร้อมที่จะดำเนินการเพราะอยู่ในอุตสาหกรรมมา 40 ปี ขณะที่ปัจจุบันมีคลัง LNG ที่มีขีดความสามารถรับ-จ่ายก๊าซฯ 11.5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างคลัง LNG หนองแฟบ ซึ่งเป็นแห่งใหม่อีก 7.5 ล้านตัน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 65 เพิ่มขีดความสามารถรับ-จ่ายก๊าซฯได้ 19 ล้านตัน/ปี และในอนาคตจะสร้างคลังแห่งใหม่ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 อีกในอนาคตด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถรองรับความต้องการใช้ LNG ได้ถึง 10-15 ปี โดยไม่จำเป็นต้องขยายเพิ่มเติมอีกในพื้นที่เดิม

ส่วนการจัดตั้งคลัง LNG ลอยน้ำในรูปแบบ FSRU สำหรับพื้นที่ภาคใต้นั้น เห็นว่ายังมีความจำเป็น แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่อย่างไรในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจเทรดดิ้ง LNG คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมีบุคลากรรองรับไว้อยู่แล้ว การทำเทรดดิ้งก็จะเพิ่มเติมเรื่องค่าบริหารจัดการ ซึ่งคาดว่าจะไม่ยุ่งยาก ซึ่งปลายปีนี้จะมีการทดสอบระบบ ก่อนจะส่งให้ลูกค้าในจีนเพื่อทดสอบระบบ โดยจะจัดส่งเป็นคาร์โก้เล็ก ๆ ทางเรือในต้นปีหน้า ซึ่งจะเป็นล็อตแรกที่ส่งออกไป

ทั้งนี้ มองว่าไทยมีความได้เปรียบเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ และไทยนับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการนำเข้า LNG ในปริมาณที่สูง

ขณะที่นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ปตท.มีคลัง LNG ที่รองรับการนำเข้าได้ 11.5 ล้านตัน/ปี ขณะที่นับแต่ต้นปีนำเข้า LNG เข้ามาเพียง 4 ล้านตัน/ปี จากปริมาณนำเข้าตามสัญญาระยะยาวที่มี 5.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งยังมีระยะเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนที่จะนำเข้าให้ครบตามสัญญา ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯโดยรวมในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่มากนักมาอยู่ที่ราว 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากราว 4,600-4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยวางเป้าเป็น HUB LNG ของภูมิภาค ก็จะเข้ามามีส่วนช่วยเติมเต็มขีดความสามารถของการรับ-จ่ายคลัง LNG ที่มีอยู่ด้วย ประกอบกับตลาด CLMV ยังมีศักยภาพในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีการใช้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือดีเซล เป็นเขื้อเพลิง ซึ่งมีโรงงานตั้งในนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็กตามแนวชายทะเล หรือตามชายแดน ทาง ปตท.ก็จะเข้าไปเจาะตลาดเพื่อนำ LNG เข้าไปทดแทน ซึ่งปตท.มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีลูกค้าอุตสาหกรรม ที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงเกือบ 400 ราย คิดเป็นปริมาณการใช้ราว 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี ประกอบด้วย PTT Natural Gas Pipeline Knowledge Hall ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพรวมของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ