แหล่งข่าว เผยค่าการกลั่นลดฮวบ หลังเผชิญแรงกดดันค่าขนส่งทางเรือพุ่งแรงจากเหตุสหรัฐคว่ำบาตร COSCO

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 16, 2019 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าการกลั่น (GRM) อ้างอิงตลาดสิงคโปร์ ที่ปรับลดลงแรงมาอยู่ที่ระดับ 1.25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) จากระดับ 5.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากค่าขนส่งทางเรือที่พุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับ 5-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับปกติที่ 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทในเครือของ COSCO ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดของจีน เนื่องจากพบว่าบริษัทพัวพันกับการขนส่งน้ำมันดิบออกจากอิหร่าน ทำให้ Sentiment ของตลาดมีความกังวลต่อปริมาณเรือที่จะไม่มีเข้าไปรับสินค้าในตลาด ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมากในรอบหลายปี

ขณะที่การคำนวณ GRM จะพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ , น้ำมันเตา และค่าขนส่ง โดยปัจจัยในส่วนของสเปรดผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนสเปรดน้ำมันเตา ติดลบค่อนข้างมาก อยู่ที่ราว -14 ถึง -15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นไปตามทิศทางปกติที่เข้าใกล้ช่วงที่จะบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% มีผลตั้งแต่ต้นปี 63 ยกเว้นเพียงกรณีของค่าขนส่งที่ปรับตัวขึ้นแรงผิดปกติจากกรณีที่สหรัฐคว่ำบาตร COSCO

"หลังจากที่สหรัฐคว่ำบาตร COSCO ก็ทำให้ตลาดขนส่งน้ำมันปั่นป่วน และค่าเฟดปรับขึ้นมาระยะหนึ่ง แต่ยังขึ้นปกติ มีในช่วงนี้ที่ขึ้นมาเป็นระดับ 5-7 เหรียญต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าสถานการณ์ก็คงเป็นไม่นาน คงอยู่ระยะหนึ่ง ก็น่าจะ normalize ช่วง Q4 ก็เป็นไฮซีซั่นของชิปปิ้ง ก็น่าจะลดระดับลงมาอยู่ในช่วง 2-3 เหรียญต่อบาร์เรล สูงกว่าระดับปกติเล็กน้อย"แหล่งข่าว กล่าว

เมื่อปลายเดือน ก.ย. สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทในเครือของ COSCO โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว เป็นหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่สหรัฐได้เคยดำเนินการมานับตั้งแต่ที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งการคว่ำบาตรบริษัท COSCO ส่งผลให้อัตราค่าระวางสำหรับการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปยังเอเชียพุ่งขึ้นเกือบ 30% ในช่วงดังกล่าว ท่ามกลางภาวะปั่นป่วนในตลาดการขนส่งน้ำมันทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ