HMPRO พุ่ง 5.52% ขานรับกำไรสุทธิ Q3/62 โต 8.52% จากมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น-ต้นทุนค่าเช่าและค่าบริการลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 29, 2019 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น HMPRO ราคาพุ่งขึ้น 5.52% มาอยู่ที่ 17.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาท มูลค่าซื้อขาย 67.41 ล้านบาท เมื่อเวลา 9.59 น. โดยเปิดตลาดที่ 16.90 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 17.30 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 16.90 บาท

บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และบริษัทย่อย ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 1.48 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.11 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.37 พันบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.10 บาท

พร้อมชี้แจงว่า บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2562 เท่ากับ 1,482.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116.44 ล้านบาท หรือ 8.52% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำไรขั้นต้น จำนวน 4,125.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.17 ล้านบาท หรือ 1.13% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 26.49% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 27.10% โดยเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนของส่วนผสมสินค้ามีไว้เพื่อขายทั้งกลุ่มสินค้าทั่วไป และกลุ่มสินค้า Direct Sourcing รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพวางแผนการจัดซื้อสินค้าของธุรกิจโฮมโปร เมกา โฮม และโฮมโปรที่ประเทศมาเลเซีย แม้ว่าบริษัทฯ มีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นก็ตาม

รายได้รวมจำนวน 16,375.47 ล้านบาท ลดลง 118.48 ล้านบาท หรือ 0.72% ซึ่งประกอบไปด้วย รายได้จากการขาย จำนวน 15,219.71 ล้านบาท ลดลง 181.11 ล้านบาท หรือ 1.18% ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายสาขาเดิมที่ไม่เป็นไปตามเป้าของธุรกิจโฮมโปร และโฮมโปรที่ประเทศมาเลเซีย แม้ยอดขายสาขาเดิมของธุรกิจเมกา โฮม จะอยู่ในระดับทรงตัวก็ตาม

รายได้ค่าเช่าและบริการ จำนวน 666.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.22 ล้านบาท หรือ 11.40% เป็นผลมาจากรายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น จากพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้ามาร์เกต วิลเลจ และพื้นที่ให้เช่าของสาขาโฮมโปร และรายได้จากค่าบริการ "Home Service"

รายได้อื่น จำนวน 489.38 ล้านบาท ลดลง 5.59 ล้านบาท หรือ 1.13% โดยเป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ส่งเสริมการขายร่วมกับคู่ค้า

ด้านต้นทุนค่าเช่าและค่าบริการ จำนวน 346.28 ล้านบาท ลดลง 5.11 ล้านบาท หรือ 1.45% เป็นผลจากการลดลงของต้นทุนในธุรกิจศูนย์การค้ามาร์เกต วิลเลจ

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวน 3,004.88 ล้านบาท ลดลง 32.56 ล้านบาท หรือ 1.07% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยหลักของการลดลงที่เป็นตัวเงินเป็นผลมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายกลุ่มที่ผันแปรไปตามผลการดำเนินงาน ค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมแซม และค่าใช้จ่ายทางการตลาด แม้ว่าค่าใช้จ่ายกลุ่มต้นทุนค่าขนส่งและค่าสาธารณูปโภคจะยังเพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งนี้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อยอดขายอยู่ในระดับใกล้เคียงกันจาก 19.72% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 19.74%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ