ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร ROJNA ที่ "BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 29, 2019 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ที่ระดับ "BBB+" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ที่สม่ำเสมอจากการจำหน่ายไฟฟ้าและการที่บริษัทเป็น 1 ใน 3 ผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้สินที่ค่อนข้างสูงของบริษัทและธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

รายได้ที่สม่ำเสมอจากการจำหน่ายไฟฟ้า

บริษัทมีรายได้ที่แน่นอนจากการจำหน่ายไฟฟ้าเนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นอกจากนี้ อุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมของบริษัทในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วยโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 13% ทั้งนี้ ยอดขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) ในปี 2561 มีสัดส่วนคิดเป็น 87% และ 75% ของรายได้รวมและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทตามลำดับ

บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทมียอดจำหน่ายไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 55% ของกำลังการผลิตทั้งหมดให้แก่ กฟผ. โดยอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) จำนวน 3 สัญญาในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) สัญญาดังกล่าวมีอายุ 25 ปีและปัจจุบัน ณ เดือนมิถุนายน 2562 สัญญามีอายุเหลืออยู่อีก 5 ปีกว่า

นอกจากนี้ บริษัท โรจนะ เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทก็ยังได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟภ. โดยอยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) จำนวนทั้งสิ้น 3 สัญญาอีกด้วย สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ต่ออายุโดยอัตโนมัติทุก ๆ 5 ปี

ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะจะมีผลประกอบการที่ค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาประมาณการ โดยรายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.28-1.36 หมื่นล้านบาทต่อปีและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.4-3.6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2565

เป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย

บริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยมาเป็นเวลาถึงประมาณ 30 ปี จากยอดขายที่ดินในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 19% รองจากอันดับ 1 คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (49%) และอันดับ 2 คือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (26%)

ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมรวม 7 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ระยอง และชลบุรี บริษัทได้ทำการกระจายธุรกิจไปในพื้นที่ที่หลากหลายเพื่อที่จะกระจายความเสี่ยงจากอุปสงค์นิคมอุตสาหกรรมที่ซบเซาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังจากเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554

บริษัทยังเข้าไปลงทุนซื้อที่ดินในเขตโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกอีกด้วยเช่นกัน การที่รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงทำให้คาดว่ายอดขายนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนโดยได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมือง และบรรยากาศในการลงทุน ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมโรจนะมีพื้นที่พร้อมขายจำนวนประมาณ 3,600 ไร่ และมีพื้นที่รอการพัฒนาอีกจำนวน 6,900 ไร่ สัดส่วนที่ดินดังกล่าวจำนวนราว ๆ 60% อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและระยองซึ่งเป็น 2 จังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศ

ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายที่ดินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นหลังจากมีสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโดยตรงจากนักลงทุนชาวต่างชาติหลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาเป็นเวลายาวนาน นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนก็ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดการลงทุนในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากผู้ผลิตชาวจีนที่คาดว่าจะมีความต้องการลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกหลายปี

ภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในขณะที่กระแสเงินสดอยู่ในระดับที่จัดการได้ ภาระหนี้ของบริษัทยังอยู่ในระดับที่สูงแม้ว่าจะได้รับเงินจากการขายหุ้นของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) มาจำนวน 8.6 พันล้านบาทก็ตาม เงินที่ได้รับจากธุรกรรมดังกล่าวนอกจากจะนำไปใช้ลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้า หน่วยลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อด้อยคุณภาพ และซื้อที่ดินเพิ่มแล้ว บริษัทยังนำเงินดังกล่าวไปจ่ายเงินปันผลพิเศษอีกด้วย ดังนั้น ณ เดือนมิถุนายน 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 50% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็อยู่ในระดับที่เกินกว่า 6 เท่า

ทริสเรทติ้ง มองว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้โดยมีกระแสเงินสดที่เพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า หนี้สินที่จะครบกำหนดชำระภายในระยะ 12 เดือนข้างหน้าจะมีจำนวน 7.1 พันล้านบาท บริษัทจะจ่ายชำระหนี้และลงทุนด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่จะมีจำนวน 2.0 พันล้านบาท รวมกับเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นอีกจำนวน 3.0 พันล้านบาท รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกบางส่วน ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทในระยะเวลาประมาณการคาดว่าจะอยู่ในช่วง 9%-15% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนที่ระดับ 8%-10% ในระหว่างปี 2559-2561 ซึ่งเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของบริษัทและการทยอยจ่ายคืนเงินกู้ยืม

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะมีจำนวนอยู่ที่ 1.2-1.7 พันล้านบาทต่อปี

รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณการอยู่ที่ 1.03-1.06 หมื่นล้านบาทต่อปี

อัตรากำไรขั้นต้นและกำไรจากการดำเนินงานโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 20% และ 15% ตามลำดับ

งบดำเนินการและลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 2.5 พันล้านบาทในปี 2562 และ 300-500 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ นอกจากนี้ สัดส่วนกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนของยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทลงไปได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงต่ำกว่าระดับ 4 เท่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานในระดับหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมากจนทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับเกินกว่า 9 เท่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ