MUFG ชู BAY เป็นช่องทางหลักรุกเอเชียหลังแดนอาทิตย์อุทัยอิ่มตัว ผสานจุดแข็งลุยแคมเปญใหญ่"เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 4, 2019 08:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG) ในฐานะบริษัทแม่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) วางเป้าหมายให้ BAY เป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญเพื่อขยายธุรกิจและบริการในเอเชีย เพื่อสร้างผลกำไรทดแทนธุรกิจสถาบันการเงินในญี่ปุ่นที่เริ่มอิ่มตัว พร้อมลุยผสานวัฒนธรรมองค์กรส่งเสริมการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับ BAY ไต่เต้าหวังขึ้นสู่ตำแหน่งธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดในไทยและเอเชีย ขณะที่ BAY ชูจุดแข็งด้านรีเทลผนึกจุดแข็งของ MUFG ผลักดันภาพลักษณ์การเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดญี่ปุ่นผ่านแคมเปญ "เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี"

นายชิโระ ฮอนโจ ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวางแผนธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโกลบอล ธนาคาร MUFG กล่าวว่า MUFG พิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจในเอเชียอยู่เสมอ เพราะธุกริจในญี่ปุ่นเริ่มอิ่มตัวแล้วไม่สามารถขยายไปได้มากกว่านี้ จึงจำเป็นต้องมองหาโอกาสความเป็นไปได้สำหรับธุรกิจในต่างประเทศ

ในส่วนของเอเชีย MUFG จะให้การสนับสนุน BAY และธนาคารดานามอน ในการเป็นแกนหลักขยายธุรกิจในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเพิ่มมากขึ้น

"เราให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะภาคธุรกิจญี่ปุ่นไม่ชอบกู้ ไม่ชอบลงทุน แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่ได้แย่ ทำให้ยอดเงินกู้ในประเทศไม่ได้สูงขึ้น ขณะที่เงินฝากในญี่ปุ่นอัตราดอกเบี้ย 0% หรือติดลบเล็กน้อย ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ลดลงมาเหลือ 0.81% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย margin spread ลดลงทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายเล็ก ธุรกิจแบงก์กิ้งในญี่ปุ่นไม่ค่อยได้กำไร

แต่ในต่างประเทศ ยอดเงินกู้และส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สูงมากกว่าในญี่ป่น ทำให้ตอนนี้กำไรจากต่างประเทศของ MUFG มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของกำไรทั้งหมด โดยเฉพาะจากสหรัฐและเอเชีย เราก็จะมุ่งไปในทั้งสองภูมิภาคนี้ โดยวางเป้าหมายการเติบโตถึง 65% ในปีนี้"นายชิโระ กล่าว

นายชิโระ กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวอยากให้ BAY เป็นธนาคารอันดับหนึ่งในประเทศไทย แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะตั้งเป้าและจะต้องไปถึงเป้าให้ได้โดยเร็ว แต่สิ่งที่ดำเนินการอยู่คือการสร้างค่านิยมในองค์กรให้เป็นรูปแบบเดียวกันเพื่อทำงานร่วมกัน จากนั้นจะค่อย ๆ ไต่เต้าจากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 5 ก็ไปขยับขึ้นไปเป็นอันดับ 4 และที่สุดก็จะเป็นธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจที่สุดในประเทศไทยและเอเชียต่อไป

"ขณะนี้ยอดสินเชื่อของ BAY เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ NPL ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก BAY มีรายได้ NPL และ rating ดีกว่าเมื่อเทียบกับ 4 ธนาคารใหญ่ของไทย ในอนาคตเราจะสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับ BAY มากขึ้น จากที่เคยร่วมมือในด้าน Business Matching และการลงทุน เราจะร่วมในการเรียนรู้เพื่อขยายความร่วมมือกันต่อไป"นายชิโระ กล่าว

ทั้งนี้ MUFG มองว่ากลุ่มธุรกิจ Global Commercial Banking ในภูมิภาคเอเชียมีความน่าสนใจ ทั้งจากจำนวนประชากรที่สูงมาก อายุเฉลี่ยของประชากรต่ำกว่าในญี่ปุ่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับเฉลี่ยปีละ 0.3-0.4% อีกทั้งมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเอเชียเป็นจำนวนมาก ซึ่งความร่วมมือกับธนาคารท้องถิ่นเป็นแนวหนึ่งที่ทำให้ MUFG ประสบความสำเร็จ สามารถให้บริการเงินกู้ได้ทุกขั้นตอนของ Supply chain จากเดิมที่สามารถให้กู้ได้เฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนเท่านั้น

นอกจากนั้น การที่ BAY มีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งได้ดีกว่า ขณะที่ธนาคารญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ทำให้มองว่า BAY เป็น leader ด้านนี้ได้ดีกว่า MUFG

"สหรัฐ ไทย และอินโดนีเซีย จะเป็น 3 แห่งที่ทำกำไรหลักให้กับกลุ่ม MUFG ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะ BAY เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างผลกำไรจากต่างประเทศให้กับ MUFG อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน MUFG เป็นอันดับหนึ่งในการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ ต่อจากนี้ก็จะขยายไปสู่ผู้ประกอบการไทย, SME, Retail และ Consumer"

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศญี่ปุ่นจะลดลงอีก BOJ ก็มีแนวคิดที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยฝากมีแนวโน้มติดลบ และจะติดลบมากขึ้นในอนาคต เราเชื่อว่าสถาบันการเงินในญี่ปุ่น รวมถึง MUFG จะทำธุรกิจในญี่ปุ่นยากขึ้น จึงต้องพยายามหารายได้ให้มากขึ้น เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น"นายชิโระ กล่าว

ขณะที่นายเอกวีร์ วิศิษฏสุนทร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายการตลาดองค์กร BAY กล่าวว่า ธนาคารมีพันธกิจหลัก 3 ข้อ คือ ต้องการสร้างภาพลักษณ์การเป็นสถาบันการเงินชั้นนำในไทย, การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นพันธมิตรด้านกลยุทธ์กับ MUFG และ การเป็นผู้นำธนาคารดิจิทัลในไทย ซึ่งการได้พันธมิตรอย่าง MUFG ทำให้พันธกิจของแบรนดฺ์เป็นไปได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

ย้อนกลับมาที่กรุงศรีเป็นธนาคารที่มีอายุ 74 ปี จนกระทั่งเป็นธนาคารอันดับ 5 ของไทย หลังจากขยับอันดับด้านสินเชื่อและเงินฝากขึ้นมาใกล้กับธนาคาร Top 4 โดยหลังจากร่วมมือกับ MUFG ทำให้ฐานสินทรัพย์สูงขึ้นมากกว่า 80% เป็น 1.778 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 61 จากก่อนหน้านั้นอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท และยังคงเป็นผู้นำด้านสินเชื่อรายย่อย และเป็นผู้นำด้านสินเชื่อเงินฝากของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทย

"ปี 2014 ก่อน MUFG เข้ามา เรามีสินทรัพย์ 1 ล้านล้านบาท มีรีเทลค่อนข้างใหญ่จากการที่มีธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต เซลล์ไฟแนนซ์ อย่างเฟิร์สช้อยส์ และ สินเชื่อส่วนบุคคล รวมกัน 49% เป็นรีเทล ส่วนลูกค้ารายใหญ่เป็นบริษัทไทย 29% SME 22% สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อรวมแล้วสินทรัพย์โตเกือบ 80% เป็น 1.778 ล้านล้านบาท มีส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นต่างชาติ และญี่ปุ่น 13% ของสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคาร เป็นข้อดีทำให้ธนาคารมีความครบวงจรมากขึ้น"นายเอกวีร์ กล่าว

BAY ยังเป็นช่องทางของ MUFG ในการขยายธุรกิจในเอเชีย โดยเข้าไปลงทุนในบริษัท Hattha Kaksekar Limited (HKL)ในกัมพูชา และบริษัท SB Finance ของฟิลิปปินส์ เพื่อนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อรายย่อยขยายไปยังตลาดกัมพูชาและฟิลิปปินส์ รวมถึงดีลต่าง ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายเอกวีร์ กล่าวว่า เจโทรสำรวจพบว่าบริษัทญี่ปุ่นในไทย 70-75% มีบัญชีกับ BAY และ 70% ใช้บัญชีของ BAY เป็นธนาคารหลัก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดของธนาคารญี่ปุ่นในไทย เพราะสามารถทำให้ลูกค้าเห็นประโยชน์ในการใช้ BAY เชื่อมโยงไปยังบริการด้านการเงินของ MUFG ยกตัวอย่างกรณีของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เข้าซื้อหุ้นกิจการเรดล็อบสเตอร์ในสหรัฐ ผ่านมาทาง BAY ที่ได้เชื่อมต่อให้รู้จักกับ MUFG ที่สหรัฐ ซึ่งเป็นที่มาของดีลซื้อเรดล็อบสเตอร์สำเร็จ

รวมถึง บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ซื้อกิจการของโฮลซิม แอสเสท ในศรีลังกา และเวียดนาม , บริษัท น้ำตาลมิตรผล ใช้คอนเน็คชั่นของ BAY ไปใช้เงินกู้ระยะสั้นของ MUFG ในจีน , ไทยซัมมิท ขยายกิจการไปอินเดียใช้คอนเน็คชั่น MUFG และจะมีต่อไปเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นการ Synergy ของ BAY และ MUFG

ขณะที่ในด้าน Supply Chain Finance จากจุดแข็งของ BAY ในด้านรีเทลทำให้มีเครือข่ายดีลเลอร์สินเชื่อรถยนต์จำนวนมาก และดีลเลอร์เน็ตเวิร์คเครื่องใช้ไฟฟ้า การมี MUFG ทำให้ซัพพลายเชนครบวงจรมากขึ้น สามารถให้บริการทางการเงินทั้งกับค่ายรถยนต์โดยตรง หรือผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรง รวมถึงดีลเลอร์ และผู้บริโภค

นายเอกวีร์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการสื่อสารให้ลูกค้ารายย่อยทราบว่า BAY เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก และธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น นำมาสู่แคมเปญ"เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี"เพื่อเข้าไปให้บริการในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทยและในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นจำนวนมาก

"วัฒนธรรมญี่ปุ่นแพร่หลายและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มคนไทย กลุ่มเป้าหมายคือคนทั่วไป เมื่ออยู่กับกรุงศรีไม่ว่าจะเป็นเมื่ออยูในประเทศไทย ถ้าต้องการกินอาหารญี่ปุ่น ต้องการใช้ไลฟ์สไตล์แบบญี่ปุ่น ต้องการไปออนเซน เราก็มีส่วนลดให้ผ่านบัตรเครดิต JCB หรือสยามทาคาชิมาย่า ธนาคารเรามี 4 สาขาที่มีพนักงานพูดญี่ปุ่นได้ และมีตู้เอทีเอ็มที่มีภาษาญี่ปุ่น มีกองทุนรวมที่ลงทุนในญี่ปุ่น ผ่าน KSAM ขณะที่มาญี่ปุ่นก็สามารถใช้ QR Payment ผ่านแอพ KMS จ่ายค่าสินค้าได้ ใช้บัตรเครดิตต่าง ๆ ที่ให้ส่วนลด" นายเอกวีร์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ