EPG หั่นเป้ารายได้งวดปี 62/63 เหลือโต 5-6% จาก 8-10% เหตุบาทแข็ง-ยานยนต์ชะลอ แต่คาดกำไรโตเด่นหลังราคาวัตถุดิบลด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 22, 2019 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลิเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เปิดเผยว่า บริษัทปรับลดเป้าหมายรายได้ในปี62/63 (เม.ย.62-มี.ค.63) เหลือเติบโต 5-6% จากเดิมตั้งไว้จะเติบโตราว 8-10% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วนับตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบันแข็งค่ามาแล้วกว่า 7% โดยโครงสร้างรายได้บริษัทในปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออก 69% และในประเทศ 21% แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบรายได้รวม แต่บริษัทใช้กลยุทธ์ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และปรับสัดส่วนสินค้านำเข้าและส่งออกให้มีความสมดุลกัน รวมถึงมีแผนกู้เงินในต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ การชะลอตัวในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับยานยนต์ เป็นหนึ่งในสาเหตุกระทบรายได้เติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่างๆ ทั่วโลกอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนโมเดลให้สอดรับการเทคโนโลยี และความต้องการของผู้ซื้อ หลังจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกัน ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นผลลบเชื่อมโยงให้เศรษฐกิจโลกเกิดความไม่แน่นอนและกระทบในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม บริษัทปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จึงเชื่อมั่นทิศทางกำไรในงวดผลประกอบการปีนี้ ยังมีโอกาสเติบโตได้โดดเด่น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 904.32 ล้านบาท เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักที่เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น HDPE, PP, PET ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลบวกโดยตรง ช่วยเพิ่มศักยภาพทำกำไรที่ดีต่อเนื่อง

ประกอบกับ บริษัทมุ่งเดินหน้าบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายการผลิต เบื้องต้นคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 28-30% หรือมีโอกาสสูงกว่าคาด โดยในช่วงครึ่งปีแรกอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 29.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 27.3% ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ลดต้นทุนและราคาวัตถุดิบยังคงทรงตัวจะเป็นผลบวกให้กับผลประกอบการในปีถัดไปด้วย

"ค่าเงินบาทแข็งค่ามากว่า 7% จากต้นปีมาถึงตอนนี้ เป็นสิ่งที่เราก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาบริษัทดูแลความเสี่ยงเป็นอย่างดี มีการบริหารสินค้านำเข้าและส่งออกในสมดุลกัน และก็เกือบทุกปีบริษัทมีกำไรจากค่าเงินมาตลอด แต่อาจกระทบเชิงรายได้ลดลง ขณะที่แนวโน้มศักยภาพทำกำไรปีนี้เราเชื่อว่าในครึ่งปีหลัง จะเติบโตได้ดีอย่างแน่นอน"นายภวัฒน์ กล่าว

สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าวางเงินลงทุนไว้ที่ 1.15 พันล้านบาท มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งไม่รวมกับงบลงทุนใช้ซื้อกิจการและร่วมทุนจำนวน 300 ล้านบาท รองรับขยายไลน์การผลิตในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 ราย แต่น่าจะยังไม่เห็นความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังผันผวน อาจจะต้องรอจังหวะที่เหมาะสม ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมือกว่า 2 พันล้านบาท และมีฐานะการเงินแข็งแกร่งมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ระดับ 0.31 เท่า

ปัจจุบัน EPG มีสัดส่วนรายได้ แบ่งเป็น AEROKLAS 48% AEROFLEX 29% และ EPP 23% โดยธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX มุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น ในด้านการผลิต บริษัทจะทยอยลงทุนขยายโรงงานใหม่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปีหน้า โดยเน้นใช้เครื่องจักรอัตโนมัติความเร็วสูง ขณะที่การลงทุนในประเทศของ AEROFLEX 5 อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 6,000 ตัน/ปี ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ในกลุ่มประเทศ CLMV และตะวันออกกลาง

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS มุ่งเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทพื้นปูกระบะ (Bed Liner)/ หลังคาครอบกระบะ (Canopy) และ บันไดข้างรถกระบะ (Sidestep) ที่มีความต้องการใช้จากกลุ่มลูกค้าต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ฝาปิดกระบะ (Roller lid) ออกสู่ตลาดแล้ว และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศเห็นว่าการบริโภคในประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าคงทน ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.62 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขยอดขายรถกระบะในประเทศลดลง 9.6% และยอดส่งออกลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน AEROKLAS เตรียมความพร้อม ปรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตทดแทน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ในทวีปแอฟริกา ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลกหลายรายเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากสามารถจะขยายธุรกิจไปยังทวีปแอฟริกาและเป็นประตูสู่ทวีปยุโรปจากการสนับสนุนของรัฐบาลแอฟริกาใต้ โดย AEROKLAS ได้ลงทุนในกิจการร่วมค้า Aeroklas Duys (Pty) Ltd. ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภท อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ให้กับลูกค้า OEM และลูกค้ารายย่อยทั่วไปในประเทศแอฟริกาใต้

ธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย TJM Products Pty.Ltd (TJM) ได้ทำตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ในประเทศมาเลเซีย อีกทั้งช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า TJM จะเปิดแฟรนไชน์ในประเทศไทย 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้คนไทยที่ชื่นชอบการตกแต่งรถกระบะ 4WD ได้เลือกใช้สินค้าคุณภาพดีมาตรฐานประเทศออสเตรเลียภายใต้แบรนด์ TJM

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP เร่งทำการตลาดในประเทศมากขึ้นในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่ม ส่วนลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม EPP มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับงานด้วยความพร้อมของกระบวนการผลิต และมาตรฐานความสะอาด ความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้รับการรับรองจากองค์กรชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก ตามที่ได้ปรับกลยุทธ์ โดยใช้หลักการบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ EPP เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยในปีนี้จะทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการสินค้ามาตรฐานสูง และกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่ม

นอกจากนี้ EPP สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบประเภท Bio plastic ได้เนื่องจากมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม และมีแผนลงทุนขยายไลน์การผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อสามารถให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร รวมถึง มีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น กัมพูชา ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ