KTB คาดสินเชื่อปีนี้ทำได้ต่ำเป้าโต 5% หลังมองสินเชื่อเอสเอ็มอีทรงตัว จับตา NPL พร้อมเข้าช่วยเหลือลูกค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 11, 2019 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ภาพรวมการให้สินเชื่อของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 5% เนื่องจากปัจจุบันสินเชื่อรวมของธนาคารขยายตัวได้เพียง 3% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตมาจากสินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีมองว่าไม่เติบโต หรือเติบโตเพียงเล็กน้อยราว 1% ส่วนแผนงานในปี 63 ธนาคารยังต้องปรับแผนงานอยู่ทุกเดือน เพราะความไม่แน่นอนยังมีสูง ทำให้ต้องวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเข้าใจปัญหาของลูกค้า เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและให้คำแนะนำได้ถูกต้อง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าสินเชี่อรวมของธนาคารอาจจะเติบโตไม่ถึง 3% แต่ยังคงต้องรอการพิจารณาแผนงานในปี 63 ให้เรียบร้อยก่อนในช่วงเดือนธ.ค.นี้

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มองว่าส่วนใหญ่ยังมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอี แต่ธนาคารยังให้ความช่วยลูกค้าลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนในปีหน้ามองว่าแนวโน้ม NPL ก็จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าธนาคารจะมีความเข้มงวดในการตั้งสำรอง การจัดชั้นลูกหนี้ และช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธนาคารทยอยตั้งสำรองอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนและมาตรฐานบัญชีใหม่ และทำให้ธนาคารมีเสถียรภาพที่มั่นคง

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 63 มองว่ายังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มาจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้แนวโน้มการค้าโลกยังชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อภาคการส่งออกของไทยให้มีโอกาสติดลบในปีหน้าด้วย และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยจะมาจากภายในประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้ออกมาตรการ"ชิม ช้อป ใช้" และธนาคารกรุงไทย ก็เป็นธนาคารหลักที่สนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว ทำให้มีเม็ดเงินไหลเวียนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และกระจายไปยังผู้ประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมกับเดินหน้าผลักดันให้ประชาชนใช้กระเป๋าเงิน G-Wallet 2 ในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีการจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋าเงิน G-Wallet 2 ไปแล้วกว่า 9 พันล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่เหลือของมาตรการ โดยธนาคารคาดว่ามาตการ"ชิม ช้อป ใช้" จะมีเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบกว่า 1.4 แสนล้านบาท ผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ ได้ 0.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ