โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" DTAC จากราคาหุ้นปรับลงมากหนุนอัพไซด์เพิ่ม-Valuation ถูก แม้ภาพรวมยังถูกกดดันจากการแข่งขันรุนแรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 30, 2019 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ส่วนใหญ่แนะนำ "ซื้อ"หุ้นบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมามากก่อนหน้านี้ช่วยหนุน upside เพิ่ม รวมถึง Valuation ของ DTAC ถูกเมื่อเทียบกับรายอื่น โดยมี EV/EBITDA 6-6.5 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มที่อยู่ระดับ 9 -10 เท่า พร้อมด้วยอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ราว 4% ขณะที่ผลประกอบกับยังมีแนวโน้มที่ดี โดยในปี 63 คาดรายได้จากการบริการจะกลับมาเติบโต หลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จากการมีโครงข่ายที่มีคุณภาพและการดูแลลูกค้าดีขึ้น ขณะที่ภาพรวมธุรกิจสื่อสารยังคงถูกกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง

ส่วนการประมูล 5G ในปี 63 มองว่าไม่น่าจะช่วยเรื่องผลประกอบการของกลุ่มผู้ดำเนินการ (Operator) และบางโบรกเกอร์ก็มองว่าเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการกลุ่มสื่อสาร หากแข่งขันมีความรุนแรง

ราคาหุ้น DTAC ช่วงบ่ายไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 53.25 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.22%

          โบรกเกอร์              คำแนะนำ          ราคาเป้าหมย (บาท/หุ้น)
          บัวหลวง                  ซื้อ                 75.00
          หยวนต้าฯ                 ซื้อ                 66.00
          ฟิลลิปฯ                   ซื้อ                 63.00
          ฟินันเซีย ไซรัส             ซื้อ                 68.00
          เคทีบีฯ                   ถือ                 52.00
          นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า  DTAC เป็นตัวเลือกน่าลงทุนที่สุดในกลุ่มสื่อสาร เพราะมี Valuation ถูก มี EV/EBITDA  6 เท่า แนะนำ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 75 บาท  เนื่องจากมองว่าในปี 63 ผลประกอบการโดยรวมน่าจะเติบโตต่อเนื่อง หลังเห็นสัญญาณเติบโตตั้งแต่ไตรมาส 3/62 และคาดว่าในไตรมาส 4/62 น่าจะดีขึ้นด้วย
          ในปี 63 คาดรายได้บริการจะกลับมาเติบโต 2% มาที่ 6.2 หมื่นล้านบาท หลังจาก 4-5 ปีที่รายได้บริการติดลบมาตลอด เป็นผลจากการที่โครงข่ายมีคุณภาพดีขึ้น ดูแลลูกค้ามากขึ้น เป็นต้น ส่วนกำไรสุทธิปี 63 คาดอยู่ที่ 7.25 พันล้านบาท เติบโต 6% จากปี 62 ที่คาด 6.81 พันล้านบาท เทียบกับปี 61 ที่ขาดทุน 4.37 พันล้านบาท  ขณะที่กำไรหลักในปี 63 คาดไว้ที่ 7.15 พันล้านบาท เติบโต 5% จากปี 62 ที่คาด 6.86 พันล้านบาท และปี 61 อยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท เป็นผลจากการที่ DTAC ดำเนินการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายพนักงาน ลดค่าโครงข่ายกับ Vender ซึ่งน่าจะเห็นการปรับลดค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อไป ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นกำไรสุทธิในปี 63 ดีกว่าคาด
          ขณะที่ปี 63 ซึ่งจะมีการประมูลคลื่น 5G ประกอบด้วย คลื่นความถี่ 4 ย่านความถี่ คือ คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์  (MHz) คลื่น 1800 MHz คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) นั้น มองว่าในช่วงเริ่มต้นยังไม่น่ามีรายได้ให้กับ Operator แต่จะเป็นการเสริมประสบการณ์ลูกค้ามากกว่า โดย Operator จะรอประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงครึ่งหลังปี 63  และกว่าจะใช้ได้คาดว่าต้องรอ 9 เดือนถึง 1 ปี ที่รอให้สัมปทานไทยคมหมดอายุในเดือนก.ย.63 ก่อน ส่วนคลื่น 2600 MHz ที่ประมูลในรอบนี้ ก็ต้องรอให้บมจ.อสมท(MCOT) เคลียร์ให้จบก่อนคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 63
          สำหรับภาพรวมธุรกิจสื่อสารในปี 63 มองว่ารายได้จากบริการเติบโต 2-4% ตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนการจะผลักดันให้รายได้การบริการมีอัตราเติบโตกว่าเดิมคงทำได้ยาก เพราะลูกค้าที่ใช้บริการค่อนข้างเต็มที่แล้ว แต่สิ่งที่ทำได้คือต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ซึ่งกลยุทธ์ที่ทำได้จะมาจากการผูกบริการหลายอย่างเข้าด้วยกัน (convergence) โดยเฉพาะในส่วนของบรอดแบนด์ ซึ่งเน้นกันที่ content โดย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มีพรีเมียร์ลีกอังกฤษ , Netflix  ส่วนบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มี HBO,  Netflix
          บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรปกติของ DTAC ในไตมาส 4/62 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท ลดลง 7.9% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 4.2% จากงวดปีก่อน โดยกำไรที่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากการแข่งขันที่รุนแรง แต่ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ ส่วนกำไรที่เติบโตจากงวดปีก่อนมาจากฐานต่ำ หากกำไรออกมาตามคาดจะผลักดันให้กำไรปกติทั้งปี 62 จะอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาท ดีกว่าประมาณการของหยวนต้าฯที่ 6.4 พันล้านบาท หรือราว 2%
          การแข่งขันในตลาดมือถือที่รุนแรงขึ้นในไตรมาส 4/62 จากการออก unlimited package ในตลาดระบบเติมเงิน (pre-paid) ทั้ง buffet voice และ buffet data ในราคา 200 บาทต่อเดือน และ 150 บาทต่อเดือน แต่ภายหลังได้ถอน buffet voice ออกในช่วงปลายไตรมาส กระทบการเติบโตของรายได้ให้ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ไม่ได้ทำให้รายได้หดตัวแรงเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน อย่างที่ตลาดกังวลก่อนหน้า ขณะที่ค่าใช้จ่ายการตลาดและการอุดหนุนค่าเครื่องมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน ซึ่งช่วยหนุนกำไรกลุ่มให้แข็งแกร่ง
          "มองข้ามไปปี 63 เราคงมุมมองตลาดผู้ให้บริการมือถือฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของรายได้และการควบคุมต้นทุน เรายังคงสมมติฐานการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในไตรมาส 4/62 เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว"หยวนต้าฯ ระบุ
          หยวนต้าฯ ระบุอีกว่า การประมูลคลื่น 2600 MHz ในเดือน ก.พ.63 เป็นความเสี่ยงใหญ่ที่ต้องติดตาม หากแข่งขันด้านราคารุนแรงจะเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการกลุ่มสื่อสาร แต่หากแบ่งคลื่นกันไประหว่างผู้ประกอบการทั้งสามรายและทยอยลงทุน 5G กำไรกลุ่มจะไม่ถูกกระทบ เบื้องต้นคาดว่าโอกาสแข่งขันประมูลคลื่นรุนแรงต่ำ เนื่องจาก 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเสี่ยงเกินไปที่ผู้ประกอบการรายใดจะเลือกทุ่มตลาด
          ทั้งนี้ คงประมาณการและราคาเหมาะสม สำหรับ DTAC ณ สิ้นปี 63 ที่ 66 บาท ขณะที่ความเสี่ยงสำคัญอยู่ที่การประมูลคลื่น 5G และการแข่งขันในตลาดรุนแรงกว่าคาด  ด้านราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขาย บน EV/EBITDA ที่ 6.5 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มที่ราว 9-10 เท่า
          ด้านบทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) คาดว่า DTAC จะประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 4/62 มีกำไรสุทธิ 1.53 พันล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิไตรมาส 4/61 หลังหมดสัญญาสัมปทานและไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษจากการระงับข้อพิพาทกับบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) แต่หากเทียบไตรมาสก่อน พบว่ากำไรจะปรับลง 15.8% หลังถูกกดดันจากการแข่งขันในระบบเติมเงิน แม้ว่า ARPU ของแพ็กเกจเติมเงินที่ออกมาจะสูงกว่า ARPU เฉลี่ยของระบบ pre-paid เดิม แต่เนื่องด้วยการย้ายของลูกค้าจากระบบเหมาจ่ายรายเดือน (post-paid) ไปเป็น pre-paid นั้นอาจกดดันทำให้ ARPU เฉลี่ยทั้ง 2 ระบบโตไม่มากนัก ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารจัดการ (SG&A) คาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายไตรมาส จากค่าใช้จ่ายการตลาดที่สูงกว่าไตรมาสอื่น ๆ
          ทั้งนี้ DTAC จะยังไม่เปิดเผยภาพแนวโน้มปี 63 แต่ทางฝ่ายคาดว่ารายได้จากการให้บริการหลักจะยังเผชิญกับสงครามราคาอยู่ ซึ่งสวนทางค่าใช้จ่ายคาดเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนอุปกรณ์คลื่น 850 MHz เป็น 900 MHz, การขยายโครงข่ายที่มีต่อเนื่อง รวมถึงค่าตัดจำหน่ายคลื่น 700MHz ที่จะเข้ามาในไตรมาส 4/63 ทำให้เบื้องต้นทางฝ่ายคาดกำไรสุทธิปี 63 ลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 6.18 พันล้านบาท
          แม้ระยะสั้นราคาหุ้น DTAC จะถูกกดดันจากความกังวลของตลาดต่อการประมูลที่จะเกิดขึ้น แต่ด้วยผลดำเนินงานที่ฟื้นตัว ทางฝ่ายจึงคงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคาพื้นฐานปี 63 ที่ 63 บาท ภายใต้สมมติฐานที่ยังไม่รวมการประมูลคลื่นใหม่
          บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดการณ์กำไรปกติของ DTAC ในไตรมาส 4/62 อยู่ที่ 1.65 พันล้านบาท ลดลง 13% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 8.6% จากงวดปีก่อน หนุนให้ทั้งปี 62 มีกำไรสุทธิ 6.76 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิในปีที่แล้ว ขณะที่การแข่งขันโดยรวมมีความรุนแรงขึ้นในไตรมาส 4/62 แต่เริ่มบรรเทาลงในเดือน ธ.ค. ขณะที่เชื่อผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นกำไรมากกว่าแข่งกันจนแย่เหมือนปีก่อน สำหรับปี 63 คาดกำไรทรงตัว แต่ราคาหุ้นปรับลงจน upside เพิ่ม และคาดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend yield) 4% ต่อปี ทำให้ยังคงคำแนะนำ"ซื้อ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ