(เพิ่มเติม) SAMART ตั้งเป้าปี 63 รายได้รวมแตะ 2 หมื่นลบ.โตไม่ต่ำกว่า 40% เน้นขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 17, 2020 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) SAMART ตั้งเป้าปี 63 รายได้รวมแตะ 2 หมื่นลบ.โตไม่ต่ำกว่า 40% เน้นขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีต่อเนื่อง

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า ในปี 63 ตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% มาที่ 20,000 ล้านบาท แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สดใสนัก แต่กลุ่ม SAMART มั่นใจว่าจะเป็นปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

กลุ่ม SAMART ชูกลยุทธ์นำเสนอ โซลูชั่นและเทคโนโลยีที่หลากหลาย หรือ Unlimited Solutions จากปัจจัยที่มาจากนโยบายภาครัฐที่จะก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ด้วยการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการแข่งขัน ทั้ง E-Public Services , Critical Infrastructure , Cyber Security , Green Technology และ Human Transformation ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของ "สามารถ"

ทั้งนี้ กลุ่มตั้งเป้ารุกธุรกิจโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ (High Demand Solutions for Critical Infrastructure)

  • Finance/Banking Solutions อาทิ Core Banking , Payment Service , Data Center for Banks จากลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 3,000-4,000 ล้านบาท
  • Airport Solutions จากโครงการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE) และ ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ที่มีมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท
  • Cyber Security เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการที่ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2562 จะบังคับใช้กับหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท
  • Network Solution ที่เกี่ยวข้องกับ Nationwide Fiber Optic , IP Telephony จากกระทรวงมหาดไทย , การรถไฟแห่งประเทศไทย และอื่นๆ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท

2. กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (High Recurring Rev. Projects) โดยในปี 62 มีรายได้ประจำอยู่ที่ 5,400 บาท และในปี 63 นี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการของสายธุรกิจ ICT ที่คาดว่าปีนี้จะมีโอกาสเข้าร่วมประมูลอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.ท่าอากาศยานไทย ธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นต้น

3. กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง หรือ High Future Growth Business ที่นอกจากเราลงทุนในธุรกิจสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) และการนำสายไฟลงดิน หรือ Underground Cable รวมถึงธุรกิจด้านพลังงาน หรือ Solar Energy แล้ว ปีนี้ กลุ่ม SAMART จะนำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2/63 คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ที่ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ

SAV ถือหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) เพียงบริษัทเดียว โดยธุรกิจของ CATS เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำและมีการเติบโตขึ้นทุกปี จากการเติบโตท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชา และเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลต่อจำนวนเที่ยวบินที่ขึ้นลงในสนามบินและเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชาที่เพิ่มขึ้น

"ปี 63 นี้ จะเห็นความคึกคักในการมาของ 5G ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและพลิกโฉมเศรษฐกิจอีกครั้ง การรับส่งข้อมูลระยะไกลจะรวดเร็วแม่นยำขึ้น ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก IoT ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การขนส่ง ความมั่นคง ระบบการเงินรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจ ของกลุ่มสามารถ บริษัทจึงตอบรับความท้าทายอย่างมั่นใจ"นายวัฒน์ชัย กล่าว

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปี 63 บริษัทคาดว่าจะเข้าประมูลงานมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานภาครัฐ โดยที่ปัจจุบันสัดส่วนงานของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เป็นรายได้ของบริษัทมีสัดส่วนอยู่ 75% และส่วนที่เหลืออีก 15% จะเป็นงานของภาคเอกชน ซึ่งการเข้าประมูลงานใหม่ในปีนี้บริษัทคาดหวังจะได้งานเข้ามาราว 60-70% ของมูลค่างานที่เข้าประมูล

โดยกลยุทธ์ของบริษัทในปี 63 ยังคงรุกงานโครงการของภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากบริษัทมองหาโอกาสในช่องทางที่มีการใช้เม็ดเงินลงทุนออกมา ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งในประเทศไทยภาครัฐมีแผนนโยบายและสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 62 แต่การเบิกจ่ายงบประมาณได้เกิดความล่าช้ามาตั้งแต่ปลายปีก่อน และหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 63 เสร็จสิ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทคาดว่าจะเริ่มการประมูลงานโครงการด้าน ICT ของภาครัฐคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. และจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปรุกงานโครงการด้าน ICT ของภาครัฐมากขึ้นในปี 63

"เศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็ยังไม่ง่าย ทำให้เราต้องมาจับตลาดที่ Spending เม็ดเงินออกมา โดยเฉพาะงานภาครัฐ แม้ว่าในปีก่อนจะมีการ Delay ซึ่งมีผลทำให้ Backlog ในปีก่อนเราทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 1 หมื่นล้านบาท เป็น 9.5 พันล้านบาท แต่ในปีนี้เรามองว่า Big Spending ของภาครัฐจะเกิดขึ้น หลังจากที่งบประมาณปี 63 ผ่านแล้ว ก็น่าจะเริ่มเห็นงานออกมาตั้งแต่เดือนมี.ค.-เม.ย. และภาครัฐก็จะเริ่ม Inject เงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น และในปีนี้ SAMART จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยภาครัฐ Transform การขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ ในการที่นำ Solution ใหม่ๆเข้ามาสนับสนุน"นายวัฒน์ชัย กล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเติบโตได้ต่อเนื่อง หลังจากบริษัทเผชิญกับปัญหาทางธุรกิจจากการ Disrupt ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมาบริษัทได้เน้นไปที่การขาย Solution ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และช่วยแก้ไข Painpoint ของลูกค้า พร้อมกับการสรรหาทีมงานรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเสริมทัพ และจับเทรนด์ด้านเทคโนโลยี AI และ Big data ที่ทุกคนต่างให้ความสนใจในปัจจุบัน ซึ่งภายในไตรมาส 1/63 บริษัทจะมีการประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในงานที่บริษัทได้รับมา ซึ่งเป็นงานที่บริษัทนำ Solution ใหม่เข้ามาสนับสนุน

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า บริษัทเตรียมพิจารณากลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอีกครั้ง หลังจากที่ผลการดำเนินงานในปี 62 ของบริษัทพลิกกลับมามีกำไร จากที่ขาดทุนมาต่อเนื่องในปี 60 และ 61 ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทประกาศผลการดำเนินปี 62 ในช่วงกลางเดือนก.พ.ที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม SAMART ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาควบรวมบริษัทในเครือเข้ามา ซึ่งอาจจะมีการนำบางธุรกิจที่มีความทับซ้อนกันดึงกลับมา เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทให้ลดลง และ SAMART บริษัทแม่ จะปรับรูปแบบจากบริษัท Holding เป็น Operating ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทด้วยตัวเองได้ เพื่อให้บริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และไม่พึ่งพิงเพียงแค่เงินปันผลของบริษัทลูก

สำหรับในปี 62 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารายได้ในปี 63 ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท และบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ในสิ้นปี 62 ที่ 9.5 พันล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 5 ปีนี้

ขณะที่บริษัทลูกอย่างบมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) หลังจากที่มีการปรับแผนในการดำเนินธุรกิจใหม่ในรูปแบบอื่นแทน และได้หยุดการทำธุรกิจผลิตและขายโทรศัพท์มือถือแบรนด์ไอ-โมบาย เพื่อเป็นการปิดความเสี่ยงแล้ว คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าผลการดำเนินงานของ SDC ในปี 62 จะขาดทุนต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 64 ส่วนการนำบมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงปลายเดือนมี.ค. 63 ซึ่งเตรียมที่จะเดินสายนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในประเทศในวันที่ 28 ม.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ