(เพิ่มเติม) KBANK ตั้งเป้าปี 63 สินเชื่อรวมโต 4-6% NIM ลดลงเป็น 3.1-3.3% ,รายได้ที่ไม่ใช่ดบ.ลดลง-NPL เพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 29, 2020 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) KBANK ตั้งเป้าปี 63 สินเชื่อรวมโต 4-6% NIM ลดลงเป็น 3.1-3.3% ,รายได้ที่ไม่ใช่ดบ.ลดลง-NPL เพิ่มขึ้น

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แถลงเป้าหมายทางการเงินและยุทธศาสตร์ปี 63 ตั้งเป้าสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 4-6% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อลูกค้ารายย่อย (Retail) ที่คาดว่าจะเติบโต 9-11% จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี (SME) คาดว่าจะเติบโต 1-3% และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (Corporate) คาดว่าจะเติบโต 2-4%

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าปี 63 ปล่อยสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 1.78 แสนล้านบาท เติบโต 30% จากปี 62

ด้านอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะลดลงเล็กน้อยเป็น 3.1-3.3% สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาลง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะลดลงที่ -5% ถึง -17% เป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 การเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันที่ยังชะลอตัว

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4.0% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และธนาคารปรับกลยุทธ์ในการจัดการ NPL โดยเก็บ NPL บางส่วนไว้บริหารจัดการเองหากคาดว่าจะได้รับการชำระคืนสูงกว่าในระยะยาว

ขณะที่เตรียมงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และด้านบุคลากรรองรับบริการดิจิทัลใน 3 ปีนี้ (ปี 63-65) กว่า 17,000 ล้านบาท

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ที่ยังคงยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และกำหนดเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) โดยจะขับเคลื่อนธุรกิจบน 8 เส้นทางสู่การยกระดับองค์กร (8 Transformation Journeys) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถใหม่ 8 ด้านที่จะตอบสนองชีวิตและธุรกิจของลูกค้าให้เดินหน้าต่อไปได้เสมอ

ประกอบด้วย Ecosystem Orchestrator & Harmonized Channel-ร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ผสานช่องทางบริการอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน, Intelligent Lending-ปล่อยสินเชื่อรายบุคคลจากฐานข้อมูลอัจฉริยะ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง, Proactive Risk & Compliance Management-การจัดการความเสี่ยงในเชิงรุก ป้องกันความเสียหาย และติดตามต่อเนื่อง , New Growth in Regional Market-แสวงหาโอกาสและการเติบโตในตลาดระดับภูมิภาค

Data Analytics-ศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูล จะเป็นหัวใจในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการ , Cyber Security & IT Resilience-ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการจัดการทางไอทีที่รวดเร็ว, Performing Talent and Agile Organization – ส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะความสามารถและร่วมกันขับเคลื่อน ด้วยการทำงานแบบ agile ที่มีความคล่องตัวสูง, Modern World Class Technology Capability-เพิ่มศักยภาพองค์กรด้วยเทคโนโลยียุคใหม่มาตรฐานระดับโลก

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารมีมุมมองในการจัดกลุ่มความเสี่ยง และแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน แบ่งเป็น 3 แกนหลัก ดังนี้

1) การจัดการความเสี่ยงพื้นฐานจากการให้บริการทางการเงิน (Banking Services) สถาบันการเงิน ธนาคารใช้มาตรการรักษาความมั่นคงทางการเงินไว้เพื่อให้ยังคงอยู่ได้ และปกป้องเงินฝากและเงินลงทุนของลูกค้าไว้ได้ ด้วยการดำรงสัดส่วนเงินกองทุน และสัดส่วนด้านสภาพคล่องที่สูงกว่าหลักเกณฑ์กำหนดมาตลอด ปัจจุบันธนาคารมีการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) ที่ 19.62% คิดเป็น 171% ของหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีสัดส่วนด้านสภาพคล่อง (LCR) ที่ 188% ของหลักเกณฑ์กำหนด

นอกจากนี้ ได้มีการทำ Stress Testing กับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงกฎระเบียบใหม่ ที่กำลังเปลี่ยนแปลง การทำแผนสำรองการดูแลเงินกองทุนและสภาพคล่องและทำการทดสอบแผนเป็นประจำ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเข้าใจลูกค้า และความเสี่ยงของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ธนาคารให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างลูกค้ากับธนาคาร และการนำเสนอบริการที่ประทับใจแก่ลูกค้า โดยติดตั้งระบบการตรวจจับรายการทุจริต (Fraud Monitoring) ทั้ง Transaction Fraud, Application Fraud และ Internal Fraud Monitoring มีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของ Transaction Fraud Monitoring ที่แล้วเสร็จในปี 60 ทำให้อัตราส่วนรายการทุจริต (Fraud to Sales Ratio) ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น และค่าเฉลี่ยของประเทศ

2) การจัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากบริการที่เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ในปี 63 ธนาคารจะมีการยกระดับการให้ความสำคัญในการดูแลเรื่องความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cyber Security) และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า (Customer Data Privacy) ในระดับสูงสุด และจะมีการนำเทคโนโลยีด้าน AI และ Machine Learning มาใช้ในการตรวจจับ Cyber Crime และ Cyber Risk

3) การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Integration) ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนี้

สินเชื่อพลังงานทดแทน ได้แก่ สินเชื่อพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะ เป็นต้น โดยในปี 2562 ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อกว่า 6,300 ล้านบาท กำลังการผลิตกว่า 800 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายปี 2563 จะมีส่วนแบ่งการตลาดด้านกำลังการผลิต (เมกะวัตต์) เป็น 15% ของตลาดในประเทศ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศไทย

สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สินเชื่อเพื่อติดตั้ง Solar Rooftop สินเชื่อเพื่อปรับปรุงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดการใช้พลังงานในสถานประกอบการ เป็นต้น ในปี 62 ให้สินเชื่อกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 63 จะมียอดสินเชื่อที่ 2,400 ล้านบาท

สินเชื่อเพื่อการสนับสนุนด้านสังคม ได้แก่ โครงการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นในสังคมเป็นการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้เกษียณอายุ โครงการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในสังคม (Employment Generation) เป็นการสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอีและกิจการร้านค้าย่อยรายเล็กในชุมชน โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น ในปี 62 ธนาคารให้สินเชื่อกลุ่มนี้รวมกว่า 7,600 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 63 จะมียอดสินเชื่อที่ 7,730 ล้านบาท

ธนาคารมียอดการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 61 จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตั้งเป้าหมายว่าธนาคารจะออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมอีกในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการลงทุนในหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) ในปี 62 มูลค่า 1,841 ล้านบาท และตั้งเป้าจะลงทุนในปี 63 เพิ่มเติมอีก 300-500 ล้านบาท

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้นำศักยภาพด้านดิจิทัล แบงกิ้ง และความเชี่ยวชาญในการให้บริการโซลูชันทางการเงินอย่างครบวงจร ประสานกับจุดแข็งของพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ สร้างโซลูชันที่ยกระดับการให้บริการของแพลตฟอร์มไปด้วยกัน โดยได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพการให้บริการของ แอปพลิเคชันหรืออี-วอลเลต(e-Wallet) ที่ขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างเทคโนโลยี "Powered by KBank" รวมถึงการเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน K PLUS ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการของทั้งธนาคารและพันธมิตร สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลากหลายรูปแบบได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น

จากความร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ ธนาคารและพันธมิตรสามารถให้บริการกับลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบ ลูกค้าสามารถใช้บริการต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีสะดุดบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS ของธนาคารกสิกรไทยกับบนแพลตฟอร์มของพันธมิตร ได้แก่

1) เชื่อมโยงการให้บริการระหว่างธนาคารกับลูกค้าของกลุ่มพันธมิตรด้วยโครงสร้างเทคโนโลยี ‘Powered by KBank’ เชื่อมต่อทุกอย่างให้ใช้งานได้อัตโนมัติจบในแอปพลิเคชันเดียว ไม่ต้องออกจากแอปฯ เพื่อจ่ายเงินหรือเติมเงิน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการชำระเงินของลูกค้า เช่น การพัฒนาอี-วอลเลต Blue CONNECT, GrabPay, YouTrip, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการกับกลุ่มลูกค้าพันธมิตรรวมกว่า 1.3 ล้านราย

2) เพิ่มศักยภาพการให้บริการบนแพลตฟอร์ม K PLUS โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการของพันธมิตรต่าง ๆ กับลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารเข้าด้วยกัน โดยมี K PLUS เป็นช่องทางหลักในการให้บริการ ประกอบด้วย 2 ฟีเจอร์ ได้แก่ 1) เพิ่มบัตรสมาชิก (Add Card) โดยลูกค้าสามารถเพิ่มบัตรสมาชิกของแบรนด์ต่าง ๆ ได้บน K PLUS ทั้งสิ้น 13 แบรนด์ เช่น AIS Points, AirAsia BIG Loyalty, PTT Blue Card, The1 ทำให้ลูกค้าไม่ต้องพกบัตร สามารถเช็คคะแนนสะสม รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ และ 2) ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคะแนนสะสมบัตรเครดิตใน K+ Market เป็นช่องทางในการแลกคะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยที่มีฐานลูกค้าถือบัตรกว่า 2.97 ล้านบัตร ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการซื้อสินค้าหรือบริการด้วยเงินสดหรือคะแนนสะสมบัตรเครดิตได้ทันที และเพิ่มโอกาสการขายให้กับผู้ขาย ในปีที่ผ่านมา มีลูกค้าใช้คะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยเพื่อแลกซื้อสินค้าหรือบริการรวมกว่า 1,400 ล้านคะแนน

3) บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันบน K PLUS ตั้งแต่ปีที่แล้ว ธนาคารได้เริ่มให้สินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน ผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารทุกช่องทาง รวมถึงการให้บริการสินเชื่อบน K PLUS และการเข้าถึงแพลตฟอร์มของพันธมิตรต่าง ๆ และในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมกับบริษัท LINE Financial จัดตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด โดยเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่ออย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ LINE BK ในไตรมาส 2/63 เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็กทั้งลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว สะดวกสบาย ในปี 62 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน (Unsecured Lending) ได้รวมกว่า 36,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 63 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อบุคคล (Consumer Lending) เพิ่ม 178,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 62

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า เพื่อก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคที่แท้จริง (A Truly Regional Bank) นอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายและการหาพันธมิตร รวมทั้งแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านบริษัท K-Vision แล้ว ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขออนุญาตจัดตั้ง บริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (ไคไต้ เทค) ที่เมืองเซินเจิ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการให้บริการของธนาคารในประเทศจีน การให้บริการดิจิทัลในภูมิภาค และสามารถนำนวัตกรรมที่ได้กลับมาใช้ประโยชน์กับธนาคารกสิกรไทยและลูกค้าไทยด้วยเช่นกัน

ธนาคารมีความพร้อมที่สร้างช่องทางและบริการดิจิทัลเพื่อพาคนไทยและธุรกิจไทยที่มีความเชื่อมั่นก้าวข้ามพรมแดนไปด้วยกันสู่โอกาสมหาศาลในยุคแห่งเอเชีย ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายในปีนี้สร้างช่องทางการบริการของธนาคารใน CCLMVI ให้ครบ และขยายพอร์ตลูกค้าบุคคลในประเทศจีน

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารอยู่ระหว่างจัดตั้ง ไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสตาร์ทอัพจีนที่มีศักยภาพทางด้านนวัตกรรมที่ล้ำหน้าจำนวนมาก แหล่งรวมบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีกว่า 300 บริษัท และโอกาสในการเข้าสู่อีโคซิสเต็มซึ่งเป็นหัวใจหลักทางเทคโนโลยีของประเทศจีนยกระดับการเติบโตแบบใหม่ ด้วยการตั้ง KASIKORN X หรือเรียกอีกชื่อว่า KX เพื่อทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory

พันธกิจของ KX คือการสร้าง ฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของประเทศไทยด้วยโมเดลธุรกิจแบบสุดโต่ง ด้วยเป้าหมายในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย บริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG โดยมีวัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน สภาพแวดล้อม และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดที่เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการทำงาน เหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพ

การขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีของธนาคารไปสู่อนาคตยุคดิสรัปชั่นรอบนี้ จะมี KBTG เป็นกำลังสำคัญ ด้วยเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความพร้อม เพื่อสร้างบริการที่ลูกค้าประทับใจและตอบโจทย์ให้ลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ทั่วประเทศ พร้อมขยายศักยภาพสู่ภูมิภาค ไปจนถึงการจัดตั้ง KASIKORN X เพื่อเปิดรับโมเดลธุรกิจแบบฟินเทคอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2565 นี้

นางสาวขัตติยา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารได้ประเมินผลกระทบของไวรัสโคโรนาต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ ที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% ลดลงมาอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นกรอบล่างที่เคยประมาณการไว้ที่ 2.5-3% ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกค้าและคู่ค้าของลูกค้าธนาคารที่ได้รัลผลกระทบโดยออกมาตรการพักชำระเงินต้น แต่ให้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม 20% ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่กำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หลังจากนั้นจะประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ