PTTGC มั่นใจรายได้ปี 63 โตอย่างน้อย 10% ตามกำลังผลิตเพิ่ม ,เตรียมออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นลบ.ภายใน Q2/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 11, 2020 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทยังมั่นใจว่ารายได้ปี 63 จะเติบโตอย่างน้อย 10% จากปีก่อน ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 11% จาก 3 โครงการปิโตรเคมีใหม่ที่จะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องในปีนี้ จากเดิมคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 15% ตามกำลังการผลิตและราคาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ก็น่าจะดีขึ้นราว 4% แต่ขณะนี้ยังเป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการใช้เม็ดพลาสติก

ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินว่ามาร์จิ้นเม็ดพลาสติกในไตรมาส 1/63 น่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 4/62 แต่ต้องรอดูสถานการณ์ชัดเจนหลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจีนจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง

"เดิมเราคิดว่าหลังตรุษจีนจะดีขึ้น แต่เจอไวรัสเข้ามาอีก ตอนนี้อย่าถามอะไรเลย เราอยู่มานานแล้วผ่านอะไรมาก็มาก ก็ต้องทำให้ดีที่สุดและสร้างขวัญกำลังใจให้ตัวเอง เรื่องแย่กว่านี้ก็เจอมาแล้ว ต้องควบคุมให้ได้ทำ GC ให้แข็งแรงหลังจากนี้ก็หวังว่ามาร์จิ้นจะดีขึ้น...ปีนี้วอลุ่มก็เพิ่ม แต่เดิมเราคิดไว้มาร์จิ้นจะดีขึ้นนิดหน่อย แต่มาเจอโคโรนา ตอนนี้ก็ predict ยาก ต้องรอดูให้ผ่านเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าจีนเป็นอย่างไร รายได้เรายังโตได้จากวอลุ่มเยอะขึ้น เดิมปีที่แล้วก็คาดว่ารายได้ปีนี้จะโต 15%"นายคงกระพัน กล่าว

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ชุดใหม่วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทภายในไตรมาส 2/63 ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปแล้วก่อนหน้านี้เพื่อระดมเงินรองรับการลงทุนในปัจจุบัน และการทำดีลซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) ที่อยู่ระหว่างเจรจา 2-3 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจปิโตรเคมีเป็นขาลงทำให้ราคาสินทรัพย์มีระดับต่ำ ก็เป็นโอกาสของการลงทุน แต่จะสามารถสรุปดีลได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นกับการเจรจาต่อรอง ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้ชัดเจน

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐนั้น ตั้งเป้าหมายจะสรุปแผนการลงทุนในช่วงปลายไตรมาส 2/63 อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่เชื่อว่าไม่กระทบต่อการใช้เงินลงทุน เพราะเป็นการทยอยใช้เงินลงทุนใน 5 ปี อีกทั้งยังใช้เงินกู้เป็นหลัก รวมถึงยังมีพันธมิตรอย่าง Daelim Industrial Co.,Ltd. (DAELIM) จากเกาหลีใต้ เป็นผู้ร่วมลงทุนอีก 50% ด้วย โดยทิศทางดอกเบี้ยลดลง จึงอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อให้ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำที่สุด ซึ่งโครงการนี้นับว่ามีโอกาสที่ดีทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบ คือ Shale Gas ในสหรัฐอยู่ในระดับต่ำมาก ขณะที่เศรษฐกิจในสหรัฐก็เติบโต จึงมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดอยู่ราว 4-5 หมื่นล้านบาท และยังมีศักยภาพในการกู้ โดยมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำแค่ 0.3 เท่า

ส่วนการที่จีนมีแผนจะลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้น บริษัทได้เตรียมแผนยกเลิกการผลิตไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีกำลังผลิตในส่วนที่เกี่ยวข้องมีประมาณ 2-3% จากกำลังผลิตรวม 2 ล้านตัน/ปี ประกอบกับวงจรการผลิตปิโตรเคมีนั้นจะเปลี่ยนทุก 5-6 ปี ทำให้การปรับเปลี่ยนในส่วนนี้จึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัท

ด้านสถานการณ์ภัยแล้งนั้น ขณะนี้บริษัทได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้แน่ใจว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของบริษัทได้ลดการใช้น้ำในหลายวิธี โดยสามารถบรรเทาผลกระทบได้ประมาณ 30% แต่ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับภาพรวม เพราะทุกอย่างเชื่อมต่อกันเป็นซัพพลายเชน

อย่างไรก็๖าม เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 4-5 มาตรการ เช่น การผันน้ำ การต่อท่อเชื่อมระหว่างลุ่มน้ำ รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขอความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลง 10% เป็นต้น โดยคาดว่าฝนจะตกตามฤดูกาลในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ก็จะทำให้ผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปด้วยกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ