EPG รับรายได้ปี 62/63 ทรงตัวจากปี 61/62 จากเดิมคาดโต 5% หลังอุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวถึง 20%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 19, 2020 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เปิดเผยว่า บริษัทยอมรับว่ารายได้ปีนี้ (เม.ย.62 – มี.ค.63) จะทำได้แค่ใกล้เคียงกับปีก่อน (เม.ย.61 – มี.ค.62) ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 5% เป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวมากถึง 20% เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจเลือกซื้อรถใหม่ด้วยความไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงรอการเปลี่ยนโมเดลรถรุ่นใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนในอนาคต

ประกอบกับ การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และการแข็งค่าของเงินบาท รวมไปถึงการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 63 เหลือโตได้ 1.5-2.5% จากผลกระทบโรคระบาดไวรัสโควิด-19 และความล่าช้าของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มธุกิจในช่วงไตรมาส 4 งวดปี 62/63 (ม.ค.–มี.ค.63) ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มุ่งทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ขณะที่โรงงานแอร์โรเฟลกซ์ 5 ซึ่งเป็นโรงงานแห่งใหม่ใน จ.ระยอง เริ่มทดสอบการผลิตแล้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน มี.ค. 63 เพื่อรองรับการเติบโตฉนวนกันความร้อน/เย็น และฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา

ส่วนธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ไตรมาส 3 งวดปี 62/63 ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ชะลอการสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ โดยใช้สต็อกเดิมที่มีอยู่ ส่งผลกระทบกับแอร์โรคลาส ทำให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ แม้จะได้รับประโยชน์จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง อย่างไรก็ตามบริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว โดยคาดว่าการบริหารต้นทุนของแอร์โรคลาสจะปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ธุรกิจ TJM Products Pty.Ltd (TJM) มีแผนขยายตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะทวีปเอเชียเพื่อขยายฐานลูกค้ารายใหม่ เสริมพอร์ตเพิ่มความแข็งแกร่ง โดยเมื่อเดือน ธ.ค.62 ได้บุกตลาดประเทศไทย เปิดโชว์รูมแห่งแรก ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้ว และในปลายเดือน ก.พ. นี้ เตรียมจะเปิดแฟรนไชส์อีก 1 แห่ง ในจ.ขอนแก่น และมีแผนขยายแฟรนไชส์อีกหลายแห่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม CLMV มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แสดงความสนใจในการร่วมทำธุรกิจกับ TJM อีกด้วย

นายเฉลียว กล่าวเพิ่มเติมว่า การขายกิจการของ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส จำกัด ในประเทศไทย ไม่ได้เป็นผลกระทบต่อบริษัทอย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทไม่ได้มีการค้าขายด้วย แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นผลดีมากกว่า เนื่องจากบริษัทผลิตรถยนต์ของจีน เกรท วอลล์ เป็นผู้ซื้อกิจการซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีการส่งสินค้าเข้าไปขายให้กับบริษัทดังกล่าวในประเทศจีนอยู่แล้ว และเชื่อว่าการเข้ามายังประเทศไทยก็จะเข้ามาใช้ชิ้นส่วนต่างๆของบริษัทเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ