โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" HMPRO มองกำไรปี 63 เติบโตแม้ H1 รับผลโควิดฉุดยอดขายหดก่อนฟื้นช่วง H2 ,ประสิทธิภาพทำกำไรดี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 13, 2020 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) หลังมองกำไรสุทธิในปี 63 ยังเติบโตแม้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงภาวะภัยแล้ง และเศรษฐกิจชะลอตัว กดดันให้กำลังซื้อหดตัว แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นกำไรกลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 2 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นของสินค้า Private Brand และการบริหารสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยผลักดันให้กำไรเติบโตได้ในปีนี้ราว 6% แม้จะอยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่กำไรเติบโตราว 10% ก็ตาม

นอกจากนี้ตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้น HMPRO ปรับลงมามากว่า 16% นั้นสะท้อนความกังวลต่อปัจจัยลบต่าง ๆ ไปบ้างแล้ว โดยจังหวะที่ราคาหุ้นอ่อนในบางครั้งเพื่อตอบรับข่าวลบ ถือเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นเพื่อการลงทุนรอการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานช่วงครี่งปีหลัง

ราคาหุ้น HMPRO อยู่ที่ 12.50 บาท บวก 5.93% หรือ เพิ่มขึ้น 0.70 บาท มากกว่าดัชนี SET บวก 1.24%

          โบรกเกอร์                      คำแนะนำ                 ราคาเป้าหมาย
          เอเชีย พลัส                       ซื้อ                       14.00
          แลนด์ แอนด์ เฮ่าส์                  ซื้อ                       17.60
          ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ                  ซื้อ                       15.80
          กสิกรไทย                         ซื้อ                       15.70
          หยวนต้า (ประเทศไทย)              ซื้อ                       15.70
          เอเชีย เวลท์                      ซื้อ                       19.00
          ทรีนีตี้                            ซื้อ                       16.90
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ                  ซื้อ                       16.00

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ HMPRO ในปี 63 มีทิศทางที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินกำไรเติบโต 6.3% จากปีที่แล้ว จากจุดเด่นเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพกำไร ที่ยังทำได้ต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มสัดส่วน Private Brand และการพัฒนาในส่วนของธุรกิจเมกา โฮม ที่ยังมีโอกาสขยายได้อีกมาก จากสัดส่วน Private Brand ของเมกา โฮม ปัจจุบันอยู่ราว 10% ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งเครือ HMPRO

อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานในครี่งแรกปีนี้ จะยังถูกกดดันต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคชะลอตัว และฐานอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมที่สูงในช่วงครี่งแรกของปีที่แล้ว รวมถึงภาระค่าเสื่อมจากศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติแห่งใหม่ที่เปิดเมื่อเดือนมิ.ย.62 ราว 50 ล้านบาท/ไตรมาส ทำให้คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานได้ในช่วงครี่งหลังของปีนี้ จากปัจจัยบวกใหม่ที่เข้ามา ทั้งมาตรการกระตุ้นของรัฐที่จะมีนัยสำคัญมากขึ้น บวกกับค่าเสื่อมดังกล่าวที่รับรู้เต็มปีไปแล้ว ก็เริ่มมี Upside การลงทุน

ทั้งนี้ มองว่าราคาหุ้น HMPRO ปรับฐานลงตั้งแต่ต้นปีน่าจะสะท้อนความกังวลการเติบโต 3-6 เดือนที่ชะลอตัวแล้ว และรอการฟื้นตัวในครี่งหลังของปีก็ยังทำให้มีความน่าสนใจลงทุน

นักวิเคราะห์บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินว่ายอดขายรวมของ HMPRO ในช่วงไตรมาส 1/63 จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการเลื่อนจัด Homepro Expo ออกไปเป็นช่วงต้น เม.ย. จากปกติที่จัดงานในช่วงเดือนมี.ค. รวมทั้งอั้ตราเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 63 ยังติดลบ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลง นอกจากนี้ผลกระทบจาก Supply Chain ที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากจีน ส่งผลให้การส่งสินค้าล่าช้า แม้ HMPRO จะมีแหล่งสินค้าในหลายประเทศทดแทนอย่างอินเดีย เวียดนาม ตุรกี แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้เบื้องต้นมองว่าผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้อาจชะลอตัว

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเห็นผลประกอบการของ HMPRO กลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 2/63 ทำให้ภาพรวมทั้งปี 63 กำไรสุทธิจะยังคงเติบโตราว 6% มาที่ 6.55 พันล้านบาท ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่มีกำไรเติบโตราว 10% โดยกำไรที่ยังติบโตมาจากอัตรากำไรขั้นต้นของ Private Brand และประสิทธิภาพในการทำงานที่พัฒนาขึ้น จากระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval System: ASRS) ส่งผลให้บริการลูกค้าได้เร็วขึ้นและบริหารค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานของโฮมโปร มาเลเซีย มีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยมีขาดทุนลดลง รวมถึง SSSG ติดลบน้อยลงด้วย

ด้านบทวิเคราะห์บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่าจากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิค-19 และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจทำให้ปรับประมาณการกำไรสุทธิของ HMPRO ในปี 63 และ 64 ลง 12.8% และ 16.4% เป็น 6.5 พันล้านบาท และ 6.9 พันล้านบาท ภายใต้สมมุติฐาน SSSG ที่ 1% เมื่อเทียบปีต่อปี ลดลงจากเดิมที่ 2% และมีการปรับเปลี่ยนการบันทึกบัญชีของรายได้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 16 โดยมีราคาเหมาะสมปี 63 ที่ 15.70 บาท (อ้างอิงวิธีการ DCF (WACC ที่ 6%) ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันหุ้น HMPRO ยังมี Upside gain

ปัจจุบัน HMPRO ซื้อขายในระดับ APER ที่ 27.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 30.35 เท่า จึงปรับคำแนะนำเป็น "ซื้อ" จาก "เก็งกำไร" โดยคาดผลกระทบของยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ส่งผลต่อ SSSG ให้อ่อนแอ อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงครี่งหลังของปีนี้ยังมีโอกาสดีขึ้น หลังสถานการณ์ที่สร้างแรงกดดันต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย

นอกจากนี้แผนปรับปรุงการบริหารสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ระบบ ASRS ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีเพิ่มขึ้นสามารถส่งของได้ในรูปแบบ Same day /Next day Delivery ช่วยหนุนยอดขายเพิ่ม รวมถึงการใช้ Omni Channel เป็นเครื่องมือ ซึ่ง HMPRO ตั้งเป้ายอดขายจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 2% จาก 1% ขณะเดียวกันยังคงแผนเพิ่มสัดส่วนยอดขายของสินค้า Private brand ในปี 63 มาที่ 20.5% ก็จะช่วยหนุนมาร์จิ้นให้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ HMPRO มีแผนเปิดสาขาใหม่ 5 แห่ง แบ่งเป็น HMPRO 2 แห่ง HMPRO S 1 แห่ง เมกา โฮม 1 แห่ง และที่ประเทศมาเลเซีย 1 แห่ง โดยผลประกอบการเมกา โฮม ในประเทศมาเลเซียเริ่มฟื้นตัว จากการปรับปรุงสินค้าภายในและยอดขายที่ดีขึ้น ทำให้ยังมีโอกาสในการขยายฐานลูกค้าจึงเริ่มเปิดสาขาใหม่ ทั้งนี้ HMPRO ยังคงนโยบายการเลือกเปิดสาขาใหม่ภายใต้ความระมัดระวัง เน้นเลือกเปิดในพื้นที่มีความต้องการบริโภคสินค้า เตรียมเปิดตัวทั้งหมดใน ช่วงครึ่งหลังของปีนี้

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปีนี้นับเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับ HMPRO จากปัจจัยลบเรื่อง เศรษฐกิจชะลอตัวกดกำลังซื้อ ภาวะภัยแล้ง และผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังผลให้อัตราการเติบโตจากสาขาเดิม เป็นลบอ่อน ๆ แต่ราคาหุ้น HMPRO ก็ตอบรับด้วยการปรับลดลงกว่า 10% ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าราคาหุ้นได้ตอบรับในเชิงลบไปพอควรแล้ว จึงปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น "ซื้อ" จากเดิม "ถือ" ด้วยราคาพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงที่ 16 บาท

สำหรับคาดการณ์อัตราการเติบโตกำไรหลักปี 63 และปี 64 ยังเติบโต 6.4% และ 11.2% ตามลำดับ โดยจังหวะที่ราคาหุ้นอ่อนในบางครั้งรับข่าวลบ ก็ถือเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นเพื่อการลงทุนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ