CBG ตั้งเป้ายอดขายรวมปี 63 โตกว่า 25% ตามตลาดขยายตัว-ออกเครื่องดื่มใหม่ ,ศึกษาซื้อหุ้นคืนหากภาวะตลาดผันผวนมาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 16, 2020 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาว กรุ๊ป (CBG) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมในปี 63 เติบโตมากกว่า 25% จากยอดขายที่ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีสัดส่วนการขายถึง 70% นั้นคาดจะขยายตัวถึง 30% โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย ซึ่งเห็นการเติบโตของยอดขายในระดับที่สูง ส่วนตลาดในยุโรป อังกฤษ และสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ยังคงเห็นการเติบโตได้อยู่ จากการตลาดในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังที่ใส่คาร์บอนเนต ส่วนยอดขายในประเทศที่มีสัดส่วนการขาย 30% คาดว่าจะยอดขายจะเติบโตได้มากกว่า 10%

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระจายไปในหลาย ๆ ประเทศ แต่ยอดขายในตลาดต่างประเทศยังคาดว่าจะเติบโตได้ราว 30% ในไตรมาส 1/63 ส่วนในประเทศคาดว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังจะไม่เติบโตถึงมีโอกาสติดลบ จากเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของยอดขายในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. ซึ่งนอกเหนือจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้วย ทำให้คนชะลอการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศปี 63 จะไม่เติบโตหรือทรงตัวจากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 3.4-3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ราว 24-25%

ส่วนการส่งเครื่องดื่มชูกำลังไปขายในตลาดประเทศจีน หลังจากที่ได้หยุดการส่งออกไปในช่วงที่จีนปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในจีนเริ่มดีขึ้นทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินงานตามปกติมากขึ้น ซึ่งบริษัทจะเริ่มกลับมาส่งออกเครื่องดื่มชูกำลังไปจีน 70 ตู้ ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบันบริษัทเข้าไปขายในจีนเป็นปีที่ 4 ซึ่งยังคงเป็นตลาดที่ท้าทายจากการที่มีเจ้าตลาดรายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดที่มากอยู่ถึง 35% แต่ยังมองว่ายังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตเพราะจีนมีจำนวนประชากรมาก และมูลค่าตลาดของเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศจีนมีสูงถึง 2 หมื่นล้านบาททำให้ยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดได้ในระยะยาว แม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนจะยังมีผลขาดทุนอยู่ก็ตาม แต่เชื่อว่ายังสามารถกลับมาเป็นบวกได้ จากความพยายามขยายตลาดในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทยังมีการออกเครื่องดื่มใหม่ที่สอดคล้องกับกระแสปัจจุบันที่ตลาดการดูแลสุขภาพกำลังเติบโต เช่นเดียวกับการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ ซึ่งบริษัทได้สนองต่อเทรนด์ดูแลรักษาสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางโดยบริษัทได้ร่วมมือกับ "วู้ดดี้" นายวุฒิธร มิลินทจินดา พัฒนาสินค้าเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพเครื่องดื่มวิตามินซี Woody C+ Lock ซึ่งบริษัทลงทุนในสัดส่วน 85% และคุณวู้ดดี้ร่วมลงทุนในสัดส่วน 15%โดยแบรนด์เครื่องดื่มวิตามินซี Woody C+ Lock จะวางจำหน่ายที่ร้านค้าสะดวกซื้อ เช่น CJ Express, เซเว่น อีเลฟเว่น, และร้านค้าทั่วไป พร้อมกันทั่วประเทศ ในราคาขวดละ 15 บาท ซึ่งเริ่มจัดส่งภายในสัปดาห์นี้ และถึงมือผู้บริโภคทั่วไปภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้

โดยที่เครื่องดื่มวิตามินซี Woody C+ Lock จะเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ช่วยเข้ามาผลักดันการเติบโตของยอดขายในปีนี้ซึ่งบริษัทวางงบการตลาดสำหรับการใช้ส่งเสริมการขายเครื่องดื่มวิตามินซี Woody C+ Lock ไว้ที่กว่า 200 ล้านบาทซึ่งคาดหวังให้เครื่องดื่มใหม่นี้มีสามารถคว้าส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ให้ได้ภายในปีนี้ จากจุดเด่นในด้านรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม แพ็คเกจจิ้งที่มีคุณภาพ ประโยชน์ด้านวิตามินที่สูง และแบรนด์ของคุณวู้ดดี้ ที่เป็นเบอร์หนึ่งในด้านของผู้สื่อสารทางการตลาด ทำให้บริษัทคาดหวังการขึ้นเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันผู้นำตลาดอันดับ 1 ในกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดที่ 50% โดยที่บริษัทตั้งเป้าจะมียอดขายของเครื่องดื่มวิตามินซี Woody C+ Lock ในปี 63 ที่ 100 ล้านขวด โดยปัจจุบันมียอดขายแล้ว 20 ล้านขวด และอาจจะพิจารณานำส่งออกไปขายในต่างประเทศเพิ่มเติม

ขณะที่แนวโน้มของอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในปี 63 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 39% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทลงทุนนำเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเข้ามาใช้ในการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับบริษัทมีแหล่งวัตถุดิบที่สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูก ช่วยให้ต้นทุนในการผลิตลดลง โดยที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานของบริษัทยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เพื่อทำให้การผลิตเครื่องดื่มของบริษัทดีขึ้น โดยที่ในช่วงปี 63-64 บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 1.5-2 พันล้านบาท เพื่อรองรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การซื้อเครื่องจักรเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ และการขยายกำลังการผลิตขวดเพิ่มอีก 500 ล้านขวด/ปี และขยายกำลังการผลิตกระป๋องเพิ่มอีก 500 ล้านกระป๋อง/ปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตขวดอยู่ที่ 1 พันล้านขวด/ปี และมีกำลังการผลิตกระป๋องอยู่ที่ 1 พันล้านกระป๋อง/ปี

นอกจากนี้บริษัทยังคงทำการตลาดต่อเนื่องในปี 63 โดยวางงบการตลาดไว้ที่ 400-500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้แบรนด์เครื่องดื่มของบริษัทเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้นและเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มได้ ตามกลยุทธ์ของบริษัทในการผลักดันให้เครื่องดื่มของบริษัทเป็นเครื่องดื่มระดับโลก ทำให้การพัฒนาเครื่องดื่ม และการทำการตลาดต้องเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงเครื่องดื่มที่มีคุณภาพที่บริษัทนำเสนอออกมา

ส่วนแผนการซื้อหุ้นคืนบริษัทยอมรับว่ามีการศึกษาในเรื่องดังกล่าวอยู่ แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังเป็นการปรับตัวลดลงจากความกังวลในระยะสั้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ และกระทบต่อภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และราคาหุ้นของบริษัทที่ผ่านมาก็ปรับตัวลงมาตามภาวะตลาดที่เกิดขึ้น ทำให้ในตอนนี้บริษัทยังขอดูสถานการณ์ภาวะตลาดหุ้นอีกสักระยะ หากตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนมาก และส่งผลกระทบทำให้ราคาหุ้นของบริษัทร่วงลงแรง บริษัทจะพิจารณาการซื้อหุ้นคืนที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

ขณะที่แผนการออกหุ้นกู้ในปี 63 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และดูจังหวะในการออกที่เหมาะสม เนื่องจากในปี 63 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุมูลค่า 1.7 พันล้านบาท จากหุ้นกู้ทั้งหมด 2 พันล้านบาท บริษัทอาจจะพิจารณาออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุวงเงินราว 2 พันล้านบาท ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำการออกหุ้นกู้ในช่วงนี้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่บริษัทพิจารณา เพราะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง ซึ่งหากมีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลงต่ำกว่า 2% จากปัจจุบันที่อยู่ 2% ต้นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ