ADVANC เปิดศูนย์ CSOC สร้างโซลูชั่นส์ AIS Cyber Secure เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้ลูกค้าองค์กร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 27, 2020 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ADVANC เปิดศูนย์ CSOC สร้างโซลูชั่นส์ AIS Cyber Secure เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้ลูกค้าองค์กร

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า AIS Business ในฐานะผู้นำบริการ ICT เพื่อองค์กรครบวงจร มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนาโซลูชั่นและบริการ AIS Cyber Secure เพื่อดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ ด้วยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ หรือ CSOC ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับ Trustwave บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ อันดับต้นของโลก

พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ของเอไอเอสในการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าเอไอเอสทั้งฐาน ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจจับ แจ้งเตือน และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถเดินหน้าทำงาน ทำธุรกิจ ได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวลเรื่องภัยไซเบอร์ เพราะมี AIS Business เป็นผู้ดูแลให้แล้ว

นอกจากนี้ กลุ่มบริการ AIS Cyber Secure ยังมีหลายหลายโซลูชันส์ที่พร้อม Customized ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็น

  • Enterprise Mobility Management เครื่องมือช่วยบริหารจัดการการใช้งานบนมือถือให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท
  • Network Firewall เครื่องมือ Firewall ที่เชื่อถือได้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ
  • IT Log Management ศูนย์รวมการจัดเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตตามกฎหมาย
  • Vulnerability Assessment & Penetration Testing ค้นหาช่องโหว่และจุดอ่อนใน Network ขององค์กร พร้อมทำหน้าที่เสมือนเป็นแฮกเกอร์เพื่อวินิจฉัยช่องโหว่ที่อาจมีอยู่ เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลและป้องกันจากแฮกเกอร์

นางยงสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ การโจมตีหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยมีกลุ่มองค์กรและภาคธุรกิจตกเป็นเป้าหมายหลัก ยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทุกองค์กรต่างปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) พนักงานบางส่วนอาจมีความจำเป็นต้อง Access เข้าสู่ระบบของบริษัท จุดนี้กลับกลายเป็นช่องโหว่ที่มีความเสี่ยงให้เกิดภัยไซเบอร์ตามมา

โดยจากการสำรวจพบว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกในเดือน มี.ค.63 เพิ่มสูงขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.63 โดยองค์กรและธุรกิจที่ Work From Home ถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 127% และคาดว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกจะสร้างความเสียหายมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564

ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรที่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ประกอบด้วย กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐ, กลุ่มการเงิน, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม, กลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์, กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการจัดระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลความปลอดภัยข้อมูล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

"เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ขณะนี้และในอนาคตอันใกล้หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น การดำเนินธุรกิจเกือบทั้งหมดจะถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ ดังนั้น เรื่อง Cyber Security จะถูกยกระดับความสำคัญ กลายเป็น New Normal พื้นฐานหลักในการดำเนินธุรกิจที่ทุกองค์กรต้องมี เพราะการมีระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้มแข็ง เชื่อถือได้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับองค์กรและธุรกิจอย่างแน่นอน" นายยงสิทธิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ