ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 9.8 พันลบ.ทรูมูฟเอชที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 8, 2020 09:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 9.8 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืม

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจหลักที่มีความสำคัญของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB+/Stable" จากทริสเรทติ้ง ตลอดจนสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมสื่อสารแบบไร้สายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ตลอดจนภาระในการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่จำนวนมาก และความต้องการใช้เงินลงทุนในระดับสูงเพื่อขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรู ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักที่มีความสำคัญของกลุ่ม TRUE เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญและชื่อเสียงของบริษัทในการเป็นหน่วยธุรกิจที่ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่ม บริษัทมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเติบโตเรื่อยมา และสร้างรายได้และกำไรในสัดส่วนที่สำคัญให้แก่กลุ่มทรู ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 76% ของรายได้รวมของกลุ่มทรูและทำกำไรเกือบ 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของกลุ่ม

ในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย TRUE บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากบริษัทแม่ โดยในด้านธุรกิจนั้น บริษัทได้รับการสนับสนุน ทั้งในด้านความช่วยเหลือในการบริหารจัดการ การใช้ตราสัญลักษณ์ร่วมกัน และการสนับสนุนด้านอื่น ๆ ส่วนการสนับสนุนทางด้านการเงินนั้นจะเห็นได้จากการที่บริษัทแม่ทำการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทในช่วงเวลาที่จำเป็น

ความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจึงมีระดับเท่ากับและจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่ต่อไปในอนาคต

มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นและมีอัตราการเติบโตเหนือคู่แข่ง

บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งโดยเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทยเมื่อพิจารณาจากทั้งรายได้และจำนวนของผู้ใช้บริการ

ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีจำนวนผู้ใช้บริการ 30.6 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 32.8% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดในอุตสาหกรรม บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าได้ทั้งลูกค้าในระบบเติมเงินและในระบบรายเดือนโดยคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.44 ล้านรายในปี 2562 เทียบกับคู่แข่งรายอื่นที่ไม่สามารถเพิ่มลูกค้าในระบบเติมเงินได้

ในปี 2562 บริษัทสร้างรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge -- IC) ที่ระดับ 7.77 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.7% จากปี 2561 ปัจจุบันบริษัทมีการเติบโตของรายได้ในอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในปี 2562 ตลาดสื่อสารแบบไร้สายในประเทศไทยสร้างรายได้จากการให้บริการรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 2561 และมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 3.7% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการในอัตราเฉลี่ย 10.5% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

ในด้านสัดส่วนการตลาดเมื่อพิจารณาจากรายได้แล้ว บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 28.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากระดับ 27.9% ในปี 2561 และระดับ 26.6% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเมื่อพิจารณาจากรายได้แล้วถือว่าต่ำกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนผู้ใช้บริการเนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อลูกค้า 1 ราย (Average Revenue Per User -- ARPU) ของผู้ใช้บริการของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าของคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการสื่อสารข้อมูลจำนวนมากและการโอนย้ายลูกค้าแบบเติมเงินมาเป็นลูกค้าแบบรายเดือนซึ่งมี ARPU สูงกว่าจะช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเดือนโดยรวมให้แก่บริษัทได้

การใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะช่วยสร้างการเติบโตของรายได้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตเล็กน้อย โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าความต้องการใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สร้างการเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอุตสาหกรรมก็จะยังคงรุนแรงซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างการเติบโตของรายได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราการขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องต่อไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีจำนวนคลื่นความถี่ที่เพียงพอ โครงข่ายที่มีคุณภาพ ตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับ และช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางของบริษัทที่เกี่ยวข้อง

ทริสเรทติ้งคาดว่าการห้ามเดินทางและการจำกัดการดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จะส่งผลทำให้รายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) รวมถึงบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของบริษัทลดลงในช่วงการออกมาตรการปิดประเทศ ซึ่งรายได้ที่เกี่ยวข้องกับบริการข้ามแดนอัตโนมัติและการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3%-4% ของรายได้จากการให้บริการสื่อสารไร้สายของบริษัทในปี 2562

แต่ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการการขอความร่วมมือทำงานจากบ้าน (Work-from-Home) ของรัฐบาล โดยประชาชนจำนวนมากสามารถทำงานและเรียนหนังสือจากบ้านในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นและทำให้มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

มีคลื่นความถี่จำนวนมากและเพียงพอ ทริสเรทติ้งมองว่าจำนวนคลื่นความถี่ (Spectrum Portfolio) ที่บริษัทมีจำนวนมากและเพียงพอที่จะรองรับความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าได้ โดยบริษัทมีคลื่นที่ครอบคลุมทุกคลื่นความถี่ทั้งช่วงความถี่สั้น ช่วงความถี่ปานกลาง และช่วงความถี่สูง ซึ่งคลื่นความถี่ที่มีมากเพียงพอแสดงถึงความสามารถในการส่งข้อมูลสื่อสารที่สูงกว่า

ในเดือนมิถุนายน 2562 หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz - MHz) บริษัทก็ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 1.76 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ จากประกาศของ กสทช. ระบุว่าจะมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประมูลได้ในเดือนตุลาคม 2563 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทยังเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ (Gigahertz -- GHz) ด้วยจำนวนคลื่นความถี่รวม 800 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 3.6 พันล้านบาทอีกด้วย

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทยังเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์อีกทั้งสิ้น 90 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 1.79 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นความถี่สำคัญที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศจีนประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีรุ่นที่ 5 หรือ 5G (Fifth Generation) ด้วยอุปกรณ์สื่อสารที่หลากหลายจากประเทศจีน ประเทศจีนเป็นประเทศผู้นำลำดับแรก ๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยี 5G และได้มีการขยายสถานีฐานสำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า China Mobile International Holdings Ltd. ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มทรูจะช่วยสนับสนุนบริษัทในด้านเทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์สื่อสารได้

การทำกำไรที่ปรับดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนสถานะทางการเงิน ในช่วง 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าการทำกำไรของบริษัทจะยังได้รับแรงกดดันจากสภาวะแวดล้อมทางการตลาดที่มีการแข่งขันสูง อัตรากำไรจะยังคงได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงข่ายจำนวนมาก ตลอดจนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากโครงข่ายที่ขยายใหญ่ขึ้นและจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตได้ด้วยความพยายามในการควบคุมค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสมเหตุสมผลจะเป็นปัจจัยเสริมให้การทำกำไรของบริษัทเติบโตขึ้น

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 24%-26% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 1.6-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังคาดว่าความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าหลังจากที่บริษัทสามารถสร้างรายได้จากคลื่นความถี่ใหม่ที่ประมูลมาได้ ทั้งนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาระหนี้สินทางการเงินจำนวนมากที่บริษัทมีลงได้บ้าง

ภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินที่มีการลงทุนในระดับสูง โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่สูง กล่าวคือ ในปี 2562 บริษัทมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ 2.04 แสนล้านบาทอันเป็นผลมาจากภาระต้นทุนใบอนุญาตคลื่นความถี่และเงินลงทุนขยายโครงข่ายขนาดใหญ่ ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 8.3 เท่า ณ สิ้นปี 2562

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาจากเงินลงทุนจำนวนมากสำหรับขยายโครงข่ายที่จะอยู่ในระดับประมาณ 6 หมื่นล้านบาทโดยรวมในช่วงปี 2563-2565 และภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีกปีละ 9.4 พันล้านบาทถึง 2.93 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 8-9 เท่า

ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะเริ่มให้บริการเทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ เทคโนโลยี 5G อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาทั้งในส่วนของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจำนวนและความหลากหลายของอุปกรณ์ที่จะสามารถรองรับบริการ 5G อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับสัญญาณ 5G ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าตลาดจะยังคงใช้เทคโนโลยี 4G เป็นหลักเพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลให้เพียงพอและรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

สภาพคล่องตึงตัว แต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4.67 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 และคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 1.6-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนโครงข่ายรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาทและภาระการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีก 9.4 พันล้านบาทถึง 2.93 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 ประมาณ 2.06 หมื่นล้านบาทและอีก 2.57 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระในปี 2564 โดยคาดว่าบริษัทจะทำการกู้เงินก้อนใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ในกรณีที่กลุ่มทรูมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติม จะมีแหล่งเงินทุนที่สามารถสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินเพิ่มเติมได้จากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลหรือขายหน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลที่บริษัทถืออยู่ในกรณีที่มีความจำเป็น

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

คาดว่ารายได้จากการให้บริการของบริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปี 2563-2565

อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 24%-26% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

บริษัทจะใช้เงินลงทุนโดยรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายโครงข่ายการให้บริการในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ภาระการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่จะอยู่ที่ปีละ 9 พันล้านบาทถึง 2.9 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้และจะมีผลการดำเนินการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรูต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ตาม "วิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม" (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง อันดับเครดิตของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่เสมอ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิตนั้นยังคงดำรงอยู่และจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ