"ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์"ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 120 ล้านหุ้น เข้าตลาด mai ใช้ขยายธุรกิจ-ลงทุนในบริษัทอื่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 25, 2020 10:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ ยื่น Filing version แรก เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563 เนื่องจากบริษัทฯจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 37.50 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในครั้งนี้

วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อย, ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ และใช้เป็นงบประมาณเพื่อลงทุนในบริษัทอื่น

บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) เดิมชื่อ บริษัท ลีโอ กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก (End - to - End Global Logistics Services)

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทฯ มีบริษัทย่อย 2 แห่งที่ดำเนินธุรกรรมอยู่ คือ บริษัท วายเจซี ดีโปท์ เซอร์วิสเซส จำกัด (YJCD) ดำเนินธุรกิจหลักคือให้บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ระยะสั้นและระยะยาว และซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ และ บริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด (LML) ดำเนินธุรกิจหลักเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ประเทศเมียนมา และมีบริษัทร่วมอีก 2 แห่งคือ บริษัท ซิโนคอร์ เมอร์ชานท์มารีน (ประเทศไทย) จำกัด (SKRT) ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายเดินเรือของซิโนคอร์ (Sinokor) จากประเทศเกาหลีใต้ และ บริษัท อาราเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ARM) ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งพัสดุและเอกสารเร่งด่วนระหว่างประเทศ

ผลดำเนินงานงวด 3 เดือนปี 2563 สินทรัพย์รวม 518.06 ล้านบาท หนี้สินรวม 299.93 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 218.13 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการ 227.63 ล้านบาท รายได้รวม 228.13 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 222.02 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9.30 ล้านบาท

ในปี 60–62 รายได้รวมจากการให้บริการเท่ากับ 1,040.63 ล้านบาท 1,052.68 ล้านบาท 1,044.01 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการในปี 61 เพิ่มขึ้นโดยมีสาเหตุหลักจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางอากาศโดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 37.16 โดยเส้นทางหลักที่เติบโตมากที่สุด คือ เส้นทางอเมริกาเหนือและเส้นทางยุโรป และรายได้จากการให้บริการบริการสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรมีอัตราการเติบโตร้อยละ 2.15 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการบริการขนส่งภายในประเทศและผ่านแดนโดยรถบรรทุกและรถบรรทุกหัวลาก และรายได้จากการให้บริการด้านพิธีการศุลกากร ในขณะที่รายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลลดลงเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 2.48 เนื่องจากรายได้จากการให้บริการส่งออกในเส้นทางอเมริกาเหนือ เอเชียใต้ และยุโรปที่ลดลง

รายได้จากการให้บริการในปี 62 ลดลงโดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเล (Sea Freight) เนื่องจากรายได้จากการขนส่งในเส้นทางกลุ่มเอเชียลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากค่าระวางตลาดโลกปรับตัวลดลง แม้ปริมาณการขนส่งโดยรวมจะเพิ่มขึ้น ตลอดจนการลดลงของรายได้จากการให้บริการบริการสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร (ILS) ซึ่งมีสาเหตุมาจากรายได้จากบริการขนส่งภายในประเทศและผ่านแดนโดยรถบรรทุกและรถบรรทุกหัวลากที่ลดลงร้อยละ 9.98 เนื่องจากสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ตลอดจนโครงการก่อสร้างโรงงานในประเทศเมียนมาของลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าได้แล้วเสร็จ ทำให้การขนส่งสินค้าผ่านแดนในเมียนมาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่งวด 3 เดือนแรกปี 62 และ 63 บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการให้บริการเท่ากับ 279.21 ล้านบาท และ 227.63 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลลดลงเท่ากับ 33.85 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 17.63 จากงวด 3 เดือนแรกปี 2562 รายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงเท่ากับ 19.09 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 46.91 จากงวด 3 เดือนแรกปี 2562 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกละชอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับงานพิเศษในการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่รายได้จากการให้บริการสนับสนุนโลจิสติกส์แบบครบวงจรเพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 1.69 โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้การให้บริการขนส่งภายในประเทศและผ่านแดนโดยรถบรรทุกและรถบรรทุกหัวลาก ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับเหตุการณ์การระบาดดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และกำลังประเมินผลกระทบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการวางแผนเพื่อรับมือและแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว

ปี 60-62 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 17.75 ล้านบาท 26.86 ล้านบาท และ 47.03 ล้านบาท โดยในปี 61 กำไรสุทธิเติบโตจากปี 60 อย่างมีนัยสำคัญคิดเป็นร้อยละ 51.35 เนื่องจากรายได้ อัตรากำไรขั้นต้น และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง ต่อเนื่องมาในปี 2562 กำไรสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญที่อัตราการเติบโตร้อยละ 75.09 จากความสามารถในการบริหารต้นทุนบริการจัดการขนส่งสินค้าทางทะเล และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น สำหรับกำไรสุทธิสำหรับงวด 3 เดือนแรกปี 62 และงวด 3 เดือนแรกปี 63 เท่ากับ 14.53 ล้านบาท และ 9.30 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรสุทธิของบริษัทฯ ลดลงจากงวด 3 เดือนแรกปี 2562 เท่ากับ 5.23 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลและทางอากาศ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของ โควิด-19 ทำให้การส่งออกและนำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โครงการในอนาคต บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีแผนขยายธุรกิจทั้งในส่วนธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ ดังนี้

1. ธุรกิจ Leo Self-Storage & E-Fulfillment Center โดยปลายปี 59 บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการ Leo Self-Storage (LSS) บนถนนพระราม 3 ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่เพื่อให้เช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ ลูกค้ารายย่อย ซึ่งได้แก่ ผู้อยู่อาศัยคอนโดมิ เนียม หรือผู้ประกอบการ SMEs และ e-commerce ในละแวกใกล้เคียง โครงการนี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พื้นที่ของคนเมือง ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการนี้ 1 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 1,280 ตารางเมตร และในปัจจุบันก็มีอัตรา Utilization ที่ 75% ของพื้นที่ และเป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ และมีแผนที่จะพัฒนาโครงการใหม่ขึ้นอย่างน้อยปีละอีก 1 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2563 และจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัทฯ ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยมีงบประมาณเงินลงทุน 17-20 ล้านบาท ต่อแห่ง ซึ่ง LSS แห่งใหม่ จะใช้แหล่งเงินทุนหลักจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) รวมถึงจะพิจารณาขยายขอบเขตการให้บริการในลักษณะ E-Fulfillment Center เพื่อรองรับลูกค้าในกลุ่ม E-Commerce อีกด้วย

2. พัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศเมียนมา บริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด (LML) จึงมีแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มความปลอดภัยของสินค้าให้มากขึ้น ด้วยระบบ Secured Cross-Border Containerization Service โดยใช้ Electronic Seal หรือ eSeal เพื่อใช้ในการตรวจสอบและติดตามสถานะการขนส่งและความปลอดภัยของสินค้า ที่ทางบริษัทย่อย LML ได้นำมาให้บริการในปี 59 บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนในอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมการขนย้ายสินค้าข้ามแดนโดยรถบรรทุกและรถหัวลาก เช่น การลงทุนในการซื้อและบริหารรถบรรทุกเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าผ่านแดน การลงทุนในการจัดตั้ง Distribution Center หรือ Warehouse เพื่อใช้ในการจัดเก็บและกระจายสินค้าในประเทศเมียนมา รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ (Value-Added Logistics Services) เพื่อให้สามารถบริการให้กับลูกค้าของบริษัทฯ ได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO)

3.ขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ โดยปัจจุบันบริษัทย่อยคือ YJCD มีธุรกิจให้พื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ระยะสั้นและระยะยาว และซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 17,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับความสามารถรองรับตู้ได้ประมาณ 3,500 ตู้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อขยายลานรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี เพื่อให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 8,000 ตู้ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO)

4.ศึกษาเพื่อร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศ ASEAN บริษัทฯ มีเป้าหมายในช่วงปลายปี 64 ที่จะเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศ ASEAN ทั้งในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการ และ/หรือ การร่วมลงทุน เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจและเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการตลอดจนสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทฯ ในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯ จะทำการศึกษาโอกาสที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งมีธุรกิจที่สามารถต่อยอด (Synergy) กับธุรกิจหลักปัจจุบันของบริษัทฯ เช่น การเข้าลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นในประเทศในการสร้างธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ และให้มีการบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ/หรือ การขยายการให้บริการในต่างประเทศผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม AEC โดยลักษณะการดำเนินธุรกิจจะคล้ายคลึงกับบริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากการระดมทุนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO)

บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 31 มี.ค. 63 จำนวน 160 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 320 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 100 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200 ล้านหุ้น และภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนในครั้งนี้จำนวน 120 ล้านหุ้น บริษัทฯจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วรวม 160 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญทั้งสิ้น 320 ล้านหุ้น

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 ประกอบด้วยนายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ถือหุ้น 72,475,200 หุ้น คิดเป็น 36.24% หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 22.65%, นายสมศักดิ์ ศรีสุทัศน์กุล ถือหุ้น 29,352,000 หุ้น คิดเป็น 14.68% หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 9.17%, บริษัท ที เอส ซี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 27,632,000 หุ้น คิดเป็น 13.82% หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 8.64

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.00 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ และบริษัทย่อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ