BAM คาดโควิดกระทบเป้ารายได้ปีนี้ 15% ดันแผนเพิ่มลูกค้าผ่อนชำระเข้ามาหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 28, 2020 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนการปฏิบัติงาน สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกระทบเป้าหมายรายได้ในปีนี้ราว 15% หลังผลการเรียกเก็บเงินสด (Cash Collection) ชะลอตัวลง แต่หากสถานการณ์คลี่คลายในไตรมาส 2/63 บริษัทจะสามารถเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสดได้ในครึ่งหลังปีนี้

"ปีนี้เราคาดหวังจะมีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาทปลาย ๆ จากปีก่อนมีรายการพิเศษ 5,000 ล้านบาท หากตัดรายการพิเศษออกไปก็ยังมีการเติบโต แต่ปี 63 การระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบกับบริษัท และเศรษฐกิจทั้งประเทศ ซึ่งไตรมาส 1/63 ไม่ได้กระทบมาก เราก็รอดูอยู่ว่าจะกระทบไตรมาส 2/63 อย่างไร ซึ่งเราก็มีวางกลยุทธ์ดึงลูกค้า เพื่อเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสดในไตรมาส 3-4 แต่อย่างไรก็ตามเราก็มีการประเมินหากโควิด-19 จบได้ในไตรมาส 2/63 และในครึ่งปีหลังเราสามารถเข้าไปเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสด คิดว่าผลกระทบในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 15% เทียบกับเป้าหมายที่วางไว้"นายสันธิษณ์ กล่าว

นายสันธิษณ์ กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสดในปีนี้ บริษัทก็เตรียมจัดแคมเปญมหกรรมที่อยู่อาศัยออนไลน์ หรือการขายทรัพย์ในรูปแบบ VR booth Online และยังมีการคัดทรัพย์ราคาพิเศษ กว่า 900 ชิ้น มูลค่ารวมกว่า 3,300 ล้านบาท โดยจะลดราคาลงราว 10-15% ของราคาตั้งขาย เพื่อกระตุ้นความต้องการ เพื่อเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสดในครึ่งปีหลังนี้

นอกจากนี้กรณีที่บริษัทได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลง 0.25% ต่อปี คาดว่าจะกระทบกับผลเรียกเก็บเงินสดเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทมีนโยบายเพิ่มลูกค้าที่มีการผ่อนชำระเข้ามามากขึ้น โดยปีนี้มีแผนเพิ่มอีก 3,000-4,000 ราย จากปัจจุบันที่มีจำนวนลูกหนี้อยู่ที่ 7,000 ราย ของลูกหนี้ทั้งหมด 80,000-90,000 ราย เพื่อสร้างผลเรียกเก็บเงินสดเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นแผนบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในปีนี้ด้วย

ด้านนายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ ของ BAM เปิดเผยว่า บริษัทว่าคาดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะส่งผลกระทบกับผลเรียกเก็บเงินสด ชะลอตัวในไตรมาส 2/63 เนื่องด้วยบริษัทก็ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบดังกล่าวต่อลูกค้า จึงมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้และลูกค้าที่ซื้อทรัพย์แบบผ่อนชำระ โดยให้ยื่นคำร้องขอผ่อนปรนเงื่อนไขการผ่อนชำระภายใน 31 พ.ค.63 และบริษัทจะพิจารณาการผ่อนปรนเงื่อนไขตามความเหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละราย เช่น พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน, พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือน (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) และพักชำระเงินต้น (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) จนถึงงวดเดือนธ.ค.63

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนเม.ย.63 ได้มีการอนุมัติเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ปรับโครงสร้างไปแล้วจำนวน 547 ราย จากจำนวนลูกหนี้ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 7,000 ราย ทำให้กระทบต่อผลเรียกเก็บเงินสดยังไม่มาก ขณะที่สินทรัพย์รอการขาย (NPAs) ก็มีลูกหนี้ขอรับการช่วยเหลือ โดยมีการขายผ่อนชำระทั้งสิ้น 122 ราย ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อข้อจำกัดบางพื้นที่ในการเข้าไปสำรวจทรัพย์ เพื่อประเมินมูลค่าสินทรัพย์ แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังนี้สถานการณ์โควิด-19 น่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และบริษัทฯ ก็จะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

นายรฐนนท์ กล่าวว่า แม้ในไตรมาส 2/63 จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 แต่บริษัทก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวการอนุมัติขาย NPAs มากขึ้น และคาดว่าสถาบันการเงินจะนำ NPLs และ NPAs ที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19 ออกมาประมูลในช่วงสิ้นปี 63 หรือไตรมาส 1/64 และบริษัทเชื่อมั่นว่ายังมี NPLs และ NPAs ที่มีหลักประกันในท้องตลาดมากพอที่บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

อนึ่ง ในช่วงไตรมาส 1/63 สถาบันการเงินมีการนำ NPAs และ NPLs ออกมาขายราว 40,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท โดยบริษัทลงทุนซื้อ NPLs ไปแล้ว จำนวน 4,911 ล้านบาท และ NPAs จำนวน 1,093 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 6,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ