EPG คาดรายได้งวดปี 63/64(สิ้น มี.ค.64) หด 12% มาที่ 9 พันลบ.รับผลโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 8, 2020 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้งวดปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) จะปรับตัวลดลงราว 12% มาที่ 9,000 ล้านบาท จากงวดปี 62/63 (เม.ย.62-มี.ค.63) ที่มีรายได้รวม 10,399.75 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 งวดปี 63/64 (เดือนเม.ย.-มิ.ย.63) คาดว่าผลประกอบการจะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพยายามรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 28-30% โดยนำนโยบาย "USE" หรือ U: Utilization การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า, S: Save การประหยัดค่าใช้จ่าย และ E: Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มาใช้บริหารงานภายในองค์กร เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

"เราคาดว่ารายได้ปีนี้จะลดลงไปประมาณ 1,000 ล้านบาท ในกรณีที่โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน และเศรษฐกิจถดถอย แต่หากการแพร่ระบาดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เรามองว่ารายได้อาจจะทำได้เท่าเดิม ขณะที่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่าผลกระทบดังกล่าวน่าจะส่งผลทำให้รายได้ลดลง แต่ถ้าไตรมาส 2 ดีขึ้นก็น่าจะช่วยหนุนไม่ให้แย่ไปกว่านี้ได้"นายภวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้แผนการดำเนินงานในปีนี้ ธุรกิจฉนวนกันความร้อนและเย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ตั้งเป้าทำการตลาดสำหรับสินค้าพรีเมี่ยมเป็นหลัก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อีกทั้งฉนวน AEROFLEX ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และคลีนรูม จึงช่วยให้ AEROFLEX สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้

สำหรับการลงทุนขยายโรงงานผลิตในประเทศไทย AFC โรงงาน 5 ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตสินค้าประเภทฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา (AERO-ROOF) และกลุ่มฉนวนยางท่อ ซึ่งจะสามารถขยายตลาดไปทั่วทวีปเอเชียทุกภูมิภาค ส่วนฐานการผลิตในสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยจะนำเครื่องจักรระบบ High speed มาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งการลงทุนใหม่นี้จะเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 2 เท่าของกำลังการผลิตในสหรัฐฯภายใน 2 ปีข้างหน้า

ด้านธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS ได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งประกาศหยุดผลิตชั่วคราว รวมถึงตลาดยานยนต์โลกซบเซา จึงกระทบกับยอดขายของ AEROKLAS พอสมควร อย่างไรก็ตาม AEROKLAS มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งทั้ง OEM, ODM และ After Market จึงใช้ช่องทางดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเร่งให้เกิด Synergy ของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AEROKLAS

อีกทั้งได้ดำเนินการควบคุมต้นทุนการผลิตด้วยพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ด้านนวัตกรรม AEROKLAS ทำงานร่วมกับค่ายรถยนต์หลายแห่งเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ เช่น กลุ่มพลังงานทดแทน การเกษตร และ Health Care เป็นต้น

ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP มุ่งเน้นขยายตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกล่องใส่อาหาร ถ้วยน้ำดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น EPP ให้ความสำคัญกับการนำกลยุทธ์ "Capacities Driven" มาบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ EPP ยังคงได้รับผลบวกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ ได้พัฒนาสินค้าใหม่หลายประเภท เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัตถุดิบประเภท Bio plastic และบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อสามารถให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร รวมถึงได้คิดค้นสินค้านวัตกรรม หน้ากากอเนกประสงค์ EP-Kare เพื่อใช้แก้ปัญหาในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาหน้ากากอเนกประสงค์ EP-Kare ในเฟสต่อไปให้สามารถผลิตหน้ากาก N95 สำหรับใช้ในวงการแพทย์ และอาจจะแตกไลน์ธุรกิจใหม่ไปยังกลุ่ม Health care ในอนาคต

นายภวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนบริษัทร่วมทุนในประเทศไทย โดยบริษัท แอร์โรคลาส จำกัด ถือหุ้น 51% และ Farplas Otomotiv A.S. ประเทศตุรกี ถือหุ้น 49% เพื่อดำเนินธุรกิจประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งใช้ความรู้ความชำนาญในเทคโนโลยีใหม่จากผู้ร่วมทุน และความแข็งแกร่งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ AEROKLAS มาขยายธุรกิจ คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป และน่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 65 โดยเฟสแรกจะเดินเครื่องจักร 60% และคาดจะมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท

พร้อมกันนี้บริษัทได้วางงบลงทุนรวมในงวดปี 63/64 ราว 390 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ใน AEROFLEX จำนวน 267 ล้านบาท, AEROKLAS จำนวน 85 ล้านบาท และ EPP 38 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างศึกษาและมองหาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ