MINT คาด H2/63 ฟื้นแรงหลังคลายล็อกดาวน์เน้นทำตลาดไทย-ยุโรป แต่รับยังไม่มั่นใจพลิกเป็นบวก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 19, 2020 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บมจ.ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างมาก หลังจากช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละประเทศเริ่มลดลง ทำให้เริ่มมีการทยอยเปิดกิจการต่างๆ โดยปัจจุบันบริษัทได้ทยอยเปิดโรงแรมในประเทศที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จากที่ก่อนหน้านี้ได้ทยอยเปิดร้านอาหารบางสาขาในช่วงแรกของการคลายล็อกดาวน์

กลยุทธ์ของบริษัทในช่บงครึ่งปีหลังจะเน้นไปที่การกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในช่วงที่ยังไม่เปิดการบินระหว่างประเทศ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา โดยมองว่าตลาดท่องเที่ยวในประเทศจะเป็นตลาดหลักในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.ของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยช่วยหนุนให้ธุรกิจโรงแรมของบริษัทฟื้นกลับมา

ขณะเดียวกันธุรกิจโรงแรมในยุโรปยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้น เพราะเป็นตลาดหลักที่กลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวภายในประเทศสูงถึง 60% และคาดว่าจากมาตรการเปิดการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศยุโรปจะทำให้สัดส่วนกลุ่มลูกค้าปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 70-75% ซึ่งช่วยหนุนรายได้จากธุรกิจโรงแรมในยุโรปให้ฟื้นขึ้นด้วย โดยที่บริษัทมีความมั่นใจว่ากลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะเลือกแบรนด์โรงแรมในเครือของ MINT เป็นอันดับต้นๆ จากมาตรฐานการให้บริการและการรักษาความสะอาดและความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจเมื่อมาเข้าพัก

อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่ายังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่นอนว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังทั้งไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรหรือยังเห็นการขาดทุนอยู่ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ยังมีความเสี่ยง แต่สิ่งที่สำคัญในปีนี้ที่บริษัทจะต้องทำ คือ ควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย และรักษาสภาพคล่องให้ดีอย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้บริษัทสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไปได้

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/63 ซึ่งเป็นช่วงที่รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ทำให้ภาพรวมของผลงานถูกกดดันมาต่อเนื่องจากไตรมาส 1/63 ที่มีผลขาดทุนกว่า 7 พันล้านบาท แต่ในไตรมาส 2/63 ยังมีปัจจัยหนุนเข้ามาบ้างจากธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เข้ามาช่วยหนุนผลการดำเนินงานได้บ้าง แต่อาจจะยังไม่ได้ช่วยหนุนผลงานฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะธุรกิจโรงแรมยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ในหลายประเทศ และธุรกิจร้านอาหารในไทยเพิ่งเริ่มโดนผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ แม้ว่าบริษัทจะเริ่มลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงก็ตาม โดยสถานการณ์ของธุรกิจเพิ่งเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในปลายเดือน พ.ค.และมิ.ย.นี้

"ภาพรวมผลงานทั้งปีนี้ก็ยังมองไม่ชัดว่าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นมากแค่ไหน และตลาดการท่องเที่ยวในปรเทศจะกลับมาเป็นอย่างไร ซึ่งกลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวในประเทศปีนี้ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก โดยเฉพาะในไทยและยุโรป ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทจะมุ่งเน้นมากขึ้นในช่วงที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์"นายชัยพัฒน์ กล่าว

นายชัยพัฒน์ กล่าว่า กลยุทธการทยอยเปิดโรงแรมของบริษัทจะต้องเป็นการเปิดโรงแรมที่คาดว่าจะทำให้มีกระแสเงินสดเป็นบวก ซึ่งจากการที่บริษัทลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพราว 25-30% ของค่าใช้จ่ายในปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทถึงจุดคุ้มทุนของโรงแรมและทำให้กระแสเงินสดเป็นบวกได้เร็ว แม้ว่าอัตราการเข้าพัก (OCC) ของโรงแรมสามารถทำได้น้อยลงที่ 30-40% แต่ยังมีกระแสเงินสดเป็นบวก ต่างจากเดิมที่ต้องมีอัตราการเข้าพัก 50-60% ถึงจะทำให้กระแสเงินสดเป็นบวก

ส่วนธุรกิจอาหารมองว่าบริการเดลิเวอร์รี่ยังคงเป็นช่องมางที่ช่วยผลักดันธุรกิจอาหารให้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงล็อกดาวน์การขายผ่านเดลิเวอร์รี่เติบโตสูงถึงตัวเลข 2 หลัก สามารถเข้ามาช่วยประคองรายได้ของธุรกิจร้านอาหารได้พอสมควร ส่วนสาขาร้านอาหารในปัจจุบัน บริษัทจะทยอยเลือกเปิดในสาขาที่มีจำนวนผู้ใช้บริการในพื้นที่เข้ามามาก และเป็นสาขบที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก เพื่อทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

ด้านงบลงทุนของบริษัทในปี 63 ได้ปรับลดลงมาเหลือ 1-1.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.7-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้ใช้ในครึ่งปีแรกไปเกือบทั้งหมดแล้วจากการจ่ายค่าซื้อแฟรนไชส์บอนชอน และการซื้อโรงแรม NH Hotel ในส่วนที่เหลือ และช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทคงจะไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ตามแผนชะลอการลงทุน และเลื่อนแผนการลงทุนใหม่ๆออกไป เพื่อรักษากระแสเงินสด และควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆให้มีประสิทธิภาพในภาวะที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ลดต้นทุนลงไปค่อนข้างมาแล้วเฉลี่ย 25-30% จากการลดค่าใช้จ่ายผู้บริหารและพนักงาน การลดค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการเจรจาต่อรองลดค่าเช่าพื้นที่เพื่อทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในภาพรวมลดลงให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทยังคงรักษาวินัยทางการเงินโดยการไม่ก่อหนี้สินเพิ่มขึ้น พร้อมเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อเตรียมวงเงินสินเชื่อรองรับราว 3 หมื่นล้านบาท ประกอบกับบริษัทยังมีกระแสเงินสดอีก 2.2 หมื่นล้านบาท และหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้น MINT ช่วงบ่ายวันนี้ (19 มิ.ย. 63) ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการเพิ่มทุนแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) การออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) และขออนุมัติออกหุ้นกู้วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาเพิ่มอีกมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมกับบริษัทยังมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ยังมีอยู่ให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง และบริษัทจะพยายามรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ให้ลดลงมาอยู่ที่ 1.3 เท่า จากปัจจุบันที่ 1.6 เท่า

ขณะเดียวกันบริษัทยังมองถึงโอกาสในการขายสินทรัพย์ของบริษัทในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือเกิดปัจจ่ยที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่รุนแรงกว่าในปัจจุบันเกิดขึ้น ซึ่งแผนการขายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นจะเป็นแผนสำรองของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ที่คุณภาพดีเป็นจำนวนมาก ทำให้หากจำเป็นต้องใช้แผนการขายสินทรัพย์ บริษัทก็สามารถขายสินทรัพย์บางรายการออกไปได้ในมูลค่าที่ดีได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ