(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับลงตามตปท.วิตกสถานการณ์โควิด ,ข้อตกลงการค้าสหรัฐ-จีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 29, 2020 09:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับลง ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับลดลง หลังดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงแรงเมื่อคืนวันศุกร์ และเช้านี้ดาวโจนส์ฟิวเจอร์สยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง จากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มียอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกทะลุ 5 แสนราย รวมถึงข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่ยังต้องจับตาปัจจัยในประเทศทั้งในส่วนของความคาดหวังการทำ Window dressing ในสัปดาห์นี้ รวมถึงการคลายล็อกเฟส 5 ของมาตรการเข้มสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทางศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณาในวันนี้ พร้อมมองแนวรับที่ 1,306-1,311 จุด และแนวต้านที่ 1,338-1,342 จุด

นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ปรับลดลงในเกณฑ์ 1% หลังดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืนวันศุกร์ และดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเช้านี้ก็ยังปรับตัวลงต่อเนื่อง จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งทะลุ 5 แสนรายทำให้ตลาดกังวลว่ารัฐบาลทั่วโลกอาจกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน หลังมีรายงานข่าวข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกของทั้งสองประเทศอาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามตลาดยังจับตาปัจจัยภายในประเทศ โดยยังมีความคาดหวังการทำราคาปิดสิ้นงวดบัญชี (Window dressing) ที่อาจจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของสิ้นไตรมาส 2/63 รวมถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ในวันนี้ ที่จะพิจารณาเรื่องการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมในระยะที่ 5 ซึ่งตลาดส่วนใหญ่รับรู้ไปบ้างแล้ว รวมถึงยังต้องจับตาสถานการณ์การเมือง โดยเฉพาะการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อาจจะมีขึ้นในระยะต่อไปด้วย

พร้อมให้แนวรับบริเวณ 1,306-1,311 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,338-1,342 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (26 มิ.ย.63) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,015.55 จุด ร่วงลง 730.05 จุด (-2.84%) , ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,009.05 จุด ร่วงลง 74.71 จุด (-2.42%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,757.22 จุด ร่วงลง 259.78 จุด (-2.59%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 257.03 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 6.48 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 77.65 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 51.87 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 29.11 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 14.77 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.95 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (26 มิ.ย.63) 1,330.34 จุด เพิ่มขึ้น 4.46 จุด (+0.34%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,516.40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (26 มิ.ย.63) ปิดที่ 38.49 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 23 เซนต์ หรือ 0.6%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (26 มิ.ย.) อยู่ที่ -0.73 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 30.90 ทรงตัวจากเย็นวันศุกร์ จับตาสถานการณ์โควิด-ประชุมศบค. มองกรอบวันนี้ 30.80-31.00
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน "หนี้เสีย" ไตรมาส 2 ปีนี้จ่อทะลุ 5.4 แสนล้านบาท แตะระดับ 3.4% สูงสุดรอบ 16 ปี แนะจับตาช่วงปลายปีอาจเร่งตัวขึ้นอีก หลังหมดมาตรการช่วยเหลือจากแบงก์ ด้านศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบีห่วงกลุ่มเอสเอ็มอีมากสุด หลังระดับหนี้ "สเตจ2" พุ่งต่อเนื่อง ด้าน "ภัทร" ฟันธงไม่เลวร้ายถึงวิกฤติการเงิน เหตุเงินกองทุนแบงก์ปึ๊ก รับมือได้
  • ประธานสมาคมแบงก์รัฐ จี้สมาชิกเร่งสำรวจคุณภาพลูกหนี้ก่อน สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ หวังเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาหนี้เสียพุ่ง พร้อมขอ ครม.ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐลง 50% ด้าน "ธอส." เร่งกันสำรองหนี้เพิ่ม ขณะ "เอสเอ็มอีแบงก์" ยอมรับความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าลดลง สั่งเช็กคุณภาพลูกค้ารายเดือน ชี้หากไม่ดีขึ้นอาจขยายเวลาช่วยเหลือ ด้าน "เอ็กซิมแบงก์" เผยหนี้เสียเริ่มขยับ
  • บริษัทบริหารสินทรัพย์ เร่งตุนสภาพคล่องรอซื้อ "หนี้เสีย" มาบริหาร คาดสิ้นปีนี้สถาบันการเงินเตรียมโละหนี้เน่าขายจำนวนมาก เผยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มท่องเที่ยว "แบม" เร่งตุนกระสุน ขอผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท หวังรอรับซื้อหนี้มาบริหาร ยอมรับหนี้เสียล้นทำระบายของยากขึ้น ด้าน "แซม" ชี้แบงก์นำ "หนี้บ้าน" ออกขายอื้อ ขณะ "เจเอ็มที-ชโย กรุ๊ป" ย้ำยังไม่เร่งซื้อ รอของถูกช่วงปลายปี
  • กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าดึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังครม.เห็นชอบหลักการ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามที่ สศช.เสนอ หนุนกระจายเงินลงสู่ท้องถิ่นดันไทยฮับอาเซียน
  • รมว.ท่องเที่ยวฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการแทรเวล บับเบิล ขณะนี้ทีมทำงานได้ประชุมร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในเบื้องต้นแล้ว แต่ในระดับรัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกัน คาดว่าวันที่ 29 มิถุนายนนี้ จะประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขก่อน จากนั้นจะเอาแนวทางที่ได้จากการประชุม หารือร่วมกับทั้ง 2 กระทรวงที่เหลือต่อไป รวมถึงวันที่ 29 มิถุนายน จะประชุม ศบค. คาดว่าจะมีข้อปฏิบัติหรือแนวคิดเกี่ยวกับการทำแทรเวล บับเบิลออกมาเพิ่มเติม หลังจากนั้นในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เชื่อว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติม ในรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติและความชัดเจนออกมามากขึ้น
  • พาณิชย์เผยตัวเลขลงทุนใหม่ในอีอีซี 5 เดือนแรกเหลือ 2,731 ราย ลดลง 13.35% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และนายหน้าอสังหาฯ ติดท็อปทรีเปิดใหม่มากสุด ส่วนร้านอาหาร ภัตตาคาร เปิดเพิ่มน้อยสุดจากปัญหาโควิด-19 ชี้เอกชนกำลังรอดูสถานการณ์ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ
  • ศบค.ชุดใหญ่ประชุมวันนี้ คาดจะพิจารณาประเด็นที่น่าสนใจ 5 เรื่อง ได้แก่ การผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมในระยะที่ 5, การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน, การอนุญาตให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ, มาตรการรองรับการศึกษาของเด็กบริเวณชายแดน และการยกเว้นปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องเว้นระยะห่างบนระบบขนส่งสาธารณะ จากเดิมที่กำหนดที่นั่งห่างตัวเว้นตัว หรือการยืนห่าง 1 เมตร เหลือ 1 ฟุต

*หุ้นเด่นวันนี้

  • BGRIM (เคทีบีฯ) ให้เป้าเชิงกลยุทธ์ที่ 59 บาท แม้ BGRIM หรือโรงไฟฟ้าจะซื้อขายที่ P/E ค่อนข้างสูง (BGRIM=74x) เพราะคาดหวังกำไรว่าจะโตมากในอนาคต ราคาหุ้นถูกมองว่าขึ้นมามาก แต่ภาวะตลาดที่อาจมีการปรับฐาน คาดหุ้นโรงไฟฟ้าน่าจะถูกกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง โดย BGRIM เตรียมงบ 3.8 พันล้านบาท ลงทุนโรงไฟฟ้าไฮบริด โครงการอู่ตะเภาเฟส1 กำลังการผลิต 95 MW พร้อมเจรจาขายไฟฟ้าให้รถไฟฟ้าไฮสปีดในโครงการอู่ตะเภาไม่ต่ำกว่า 20 MW ปี63 ขณะที่ปีนี้ยังคาดรายได้โต 10% และกำไรโต 10-15% หลังปริมาณขายไฟฟ้าลดลง แต่ได้อานิสงค์ต้นทุนราคา LNG ถูก
  • CPF (กรุงศรี) แนะ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 36.25 บาท มองทิศทางผลกำไรใน Q2/63 ยังโดดเด่นต่อเนื่องจาก ราคาหมู ไก่ ในประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหมูในเวียดนามยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง (8 หมื่น -1 แสนดองต่อกก.) นอกจากนี้ CPF ยังได้ประโยชน์จากต้นทุนกากถั่วเหลืองที่ลดลงส่งผลให้มาร์จิ้นของบริษัทยิ่งเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ