ทริสฯ ปรับลดเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ AMATA เป็น "A-" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 1, 2020 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กร และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ ของ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) มาอยู่ที่ระดับ "A-" จากเดิมที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปสงค์ในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่อ่อนแอลงมากจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อันดับเครดิตยังคงพิจารณาถึงความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมทั้งฐานรายได้ประจำจำนวนมากจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและเงินปันผลรับจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก การขยายงานอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 7.0 พันล้านบาทในปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 44.1% ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 31.7% ในปี 2560

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการรออยู่ บริษัทมีแผนในการซื้อและพัฒนาที่ดินในประเทศไทย ตลอดจนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่หลายแห่งในประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 6-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แผนการลงทุนจำนวนมาก กอปรกับภาวะอุปสงค์ที่อ่อนแอลงของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและความล่าช้าของโครงการในต่างประเทศหลายโครงการจะส่งผลให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8-9 เท่าในปี 2563-2565 จากระดับ 4.2 เท่าในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มมาอยู่ที่ 47%-55% ในปี 2563-2565 จากระดับ 40.5% ในปี 2562

ยอดขายที่ดินลดลงจากโควิด-19 ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลง จากมาตรการควบคุมการเดินทาง ตลอดจนเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของไวรัส

ทริสเรทติ้งปรับลดแนวโน้มการเติบโตของบริษัทลงจากประมาณการเดิมเพื่อสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ทั้งนี้ เราคาดการณ์ว่ายอดขายที่ดินจะหดตัวลงในปี 2563 และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 เป็นต้นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทั้งนี้ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการขายที่ดินจะลดลงจาก 3.2 พันล้านบาทในปี 2562 มาอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท ในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.4-3.7 พันล้านบาทในปี 2564-2565

ในอนาคตข้างหน้า ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทจะยังคงได้ประโยชน์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจากการที่บริษัทมีที่ดินจำนวนมากถึงประมาณ 13,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง อีกทั้งความต้องการในการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ในช่วงโควิด-19 และความตึงเครียดของสงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน

การลดลงของรายได้จากประเทศเวียดนาม ในระหว่างปี 2559-2561 บริษัทมียอดขายที่ดินในเวียดนามจำนวน 40-220 ไร่ต่อปี รายได้จากการขายที่ดินในประเทศเวียดนามอยู่ที่ระดับ 356-642 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 16%-33% ของรายได้จากการขายที่ดินทั้งหมดของบริษัท อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายที่ดินในเวียดนามลดลงมาเหลือเพียง 62 ล้านบาทในปี 2562 หรือเท่ากับจำนวน 13 ไร่ เนื่องจากบริษัทไม่มีที่ดินที่พร้อมรอขาย

ยอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามจะยังคงลดลงในปี 2563-2564 บริษัทยังคงเผชิญความไม่แน่นอนในหลายประเด็นที่เกิดจากความล่าช้าของการได้รับใบอนุญาตเพื่อที่จะพัฒนาที่ดิน สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในประเทศเวียดนามของบริษัทคือ Amata City Long Thanh (ACLT) และ Amata City Halong (ACHL) นั้นอยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะล่าช้าต่อไปอีกและคาดว่ารายได้จะเริ่มเข้ามาในปลายปี 2564

เป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยและมีประสบการณ์ที่กว้างขวางในประเทศเวียดนาม บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยมานานถึง 30 ปี บริษัทมียอดขายที่ดินมากเป็นอันดับสองเมื่อพิจารณาจากปริมาณขายที่ดินรวมของทั้งประเทศ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยที่ระดับ 29% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีการขายที่ดินมากที่สุดคือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (41%) และอันดับสามคือ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (18%)

นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2537 บริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในประเทศเวียดนามคือ Amata City (Bien Hoa) Industrial Estate (ACBH) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการพัฒนานิคมแห่งใหม่อีก 2 แห่งในเมือง Long Thanh และ Halong ด้วย

ฐานรายได้ประจำช่วยลดผลกระทบในช่วงเศรษฐกิจขาลงได้บางส่วน สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค รายได้ดังกล่าวมีความแน่นอนสูงและช่วยลดความผันผวนของยอดขายที่ดินได้บางส่วน ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคของบริษัทครอบคลุมไปถึงการให้บริการน้ำดิบ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และบริการบำบัดน้ำเสีย บริษัทมีรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.9 พันล้านบาท หรือ 33% ของรายได้รวมในปี 2562 จาก 1.3 พันล้านบาท หรือ 17% ของรายได้รวมในปี 2556 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณลูกค้าและความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท

จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายตัดสินใจหยุดหรือลดปริมาณการผลิตลง ซึ่งส่งผลให้รายได้จากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคของบริษัทลดลงในไตรมาสแรกของปี 2563 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองที่ดีต่อแนวโน้มของธุรกิจสาธาณูปโภค แม้ว่ารายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2563 แต่จะฟื้นตัวกลับมาในปี 2564

เงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้าช่วยเพิ่มกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ บริษัทได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่งร่วมกับ บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด ปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 260 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นผ่านกิจการร่วมทุนในสัดส่วน 4.0% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ (ABPIF) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 2 แห่งในจังหวัดชลบุรีด้วย ในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.4-0.6 พันล้านบาทต่อปี

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้ ทริสเรทติ้งประเมินสภาพคล่องของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.3 พันล้านบาท และวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 2.0 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 1.4 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่ครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนขางหน้าเท่ากับ 2.3 พันล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดจำนวน 1.0 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 1.3 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าความสามารถของบริษัทในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอก ซึ่งประกอบด้วย เงินกู้จากธนาคารและตลาดทุนในประเทศยังคงเหมือนเดิม

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลง 25% มาอยู่ที่ระดับ 4.6 พันล้านบาทในปี 2563 และจะเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 5.3-6.7 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2565

-อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 46%-49% ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 43%-45%

-ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 6-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต่อไปได้ ในขณะที่รายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค รวมทั้งเงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และรายได้ค่าเช่าโรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานให้แก่บริษัทได้บางส่วนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากภาระหนี้ของบริษัทลดลง จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลง หากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้หนี้สินจำนวนมากจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงเกินกว่า 9 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ