กองทุน KBSPIF ระดมทุน 2.8 พันลบ.ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ขาย IPO 4-7 ส.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 20, 2020 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. ฃกรุงไทย ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) จะเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) วงเงินระดมทุนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในสิทธิในผลประโยชน์จากการประกอบกิจการไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) ในอัตรา 62% ของรายได้ตามสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ (รายได้เฉพาะส่วนที่คำนวณจากรายได้ในส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาเฉลี่ยถ่านหิน) และรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ. น้ำตาลครบุรี (KBS) อีกจำนวน 3.5 เมกะวัตต์ รวมเป็น 25.5 เมกะวัตต์ โดยกองทุน KBSPIF จะมีระยะเวลารับโอนผลประโยชน์จากการจำหน่ายไฟฟ้าของ KPP ระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่จัดตั้งกองทุนฯ

ทรัพย์สินที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี เข้าลงทุนนั้น เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่มีคู่สัญญาจำหน่ายไฟฟ้าประเภท Firm กับกฟผ. ที่คิดอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของสัญญาอยู่ที่ 2.0577 บาท/หน่วย และสัญญาขายไฟฟ้ากับ KBS เท่ากับ 2.90 บาท/หน่วย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในกระแสรายได้ให้กับกองทุน KBSPIF

นอกจากนี้ บมจ.น้ำตาลครบุรี มีนโยบายเข้าถือครองหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 15% แต่ไม่เกิน 33% ของจำนวนหน่วยลงทุน เป็นระยะเวลา 10 ปี ตอกย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพการสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐได้ตลอดอายุสัญญา และกองทุน KBSPIF ยังมีโอกาสในการเติบโตจากการนำโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งใหม่เข้าระดมทุนเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทุน KBSPIF มีนโยบายจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งกำหนดการจ่ายไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ได้ปรับปรุงแล้ว โดยจากการประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 8.95% (จากเงินปันผล 6.24% และจากเงินลดทุน 2.71%) โดยประมาณการอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) อยู่ที่ประมาณ 7.00%

นางชวินดา กล่าวว่า กองทุนนี้เหมาะกับนักลงทุนระยะยาว นักลงทุนที่สนใจจะเป็นกลุ่มสถาบัน ประกันชีวิต ประกันภัย รวมถึงนักลงทุนรายย่อย และกองทุนก็ให้ความสนใจ ซึ่งนักลงทุนกระจายตัวค่อนข้างมาก ถ้าถือระยะยาวได้จะค่อนข้างได้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีก็เหมาะสมถือในระยะยาว

นางสาวพิจิตตรา ไตรรัตนธาดา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า กองทุน KBSPIF มีจุดเด่นด้านโครงสร้างการแบ่งกระแสรายได้เข้ากองทุนรวมฯ ที่มีความผันผวนต่ำจากสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาวให้แก่หน่วยงานภาครัฐซึ่งคือ กฟผ. และบางส่วนให้แก่ KBS อีกทั้งกองทุน KBSPIF ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการดำเนินงานโรงไฟฟ้า อันได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าซ่อมแซมและบำรุงเครื่องจักรโรงไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้กระแสรายได้ที่ KBSPIF ได้รับมีความผันผวนต่ำและไม่ขึ้นกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ กองทุน KBSPIF ยังได้ปิดความเสี่ยงการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าอันได้แก่ กากอ้อย จากการเข้าทำสัญญากับ KBS ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ ในการจัดหาวัตถุดิบที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญากองทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่กองทุนฯ เข้าลงทุนจะมีวัตถุดิบที่เพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้แก่นักลงทุน

กองทุนนี้มี Safety Factor ซึ่ง KBS ผลิตกากอ้อย 1 ล้านตัน แต่โรงงานผลิตไฟฟ้าใช้กากอ้อย 5-6 แสนตัน หรือ 60-70% และถ้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น KPP เป็นผู้รับค่าวัตถุดิบ ส่วนกองทุนนี้รับเฉพาะกระแสรายรับค่าไฟฟ้า ที่ไม่คำนึงถึงค่าเงิน ถ่านหิน จะไม่มารวมคำนวณ

ทั้งนี้ กองทุน KBSPIF ได้กำหนดราคาเสนอขายหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วย และจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำในการจองซื้อที่ 500 หน่วย และเพิ่มครั้งละ 100 หน่วย ซึ่งจะเริ่มเปิดให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป ที่สนใจสามารถจองซื้อหน่วยลงทุน ได้ตั้งแต่วันที่ 4-7 สิงหาคม 2563 ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างแน่นอน

นางสาวพิจิตตรา กล่าวว่า กองทุนนี้มีผลตอบแทนตลอด 20 ปีเฉลี่ยปีละ 7% รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้งไม่ต่ำกว่า 9% จะเห็นได้ว่ามีผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปัจจุบันต่ำมาก ขณะที่ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวนมาก นอกจากนี้ กองทุนนี้ยังได้รับยกเว้นการเก็บภาษีเงินปันผล 10% ตลอด 10 ปี

ด้านนายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บมจ. น้ำตาลครบุรี (KBS) เปิดเผยว่า บริษัทจะนำเงินที่ระดมทุนได้จากการขายหน่วยลงทุนกองทุน KBSPIF เพื่อให้ได้เงิน 2,800 ล้านบาท นำไปขยายโรงงานน้ำตาลใหม่ที่สีคิ้ว ที่มีกำลังการผลิต 12,000 ตัน/วัน และมีโรงไฟฟ้า 18 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเตรียมพร้อมขยายการขายไฟฟ้าต่อไป หากรัฐบาลเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีในช่วงธุรกิจซบเซา และสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลทำให้การใช้ไฟฟ้าน้อยลง แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตการใช้ไฟฟ้าก็ยังเติบโต รวมถึงยังให้ความสนใจโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่คาดว่าจะรัฐบาลจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากกากอ้อยของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) เป็นโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration System) ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ โดยผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้า KPP มีอัตราเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) โดยมีรายได้รวมจากการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาในปี 2560 รวมทั้งสิ้น 689.21 ล้านบาท เพิ่มเป็น 901.59 ล้านบาทในปี 2561 และในปี 2562 ที่ผ่านมา มีรายได้ 972.71 ล้านบาท

โดยยอมรับว่าภัยแล้งมีผลให้ปริมาณอ้อยน้อยลง จากเดิมผลิตได้ 4 ล้านตันในปี 60 และลดลงเป็น 3.3 ล้านตัน และต่ำสุดในปีก่อนผลิตได้ 1.7 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้มีระดับเชื้อเพลิงที่ยังปลอดภัย ไม่มีปัญหา และปีนี้ที่เชื่อว่าเผชิญกับภาวะแล้งมากสุดในรอบ 40 ปี แต่ก็ได้ผ่านไปแล้ว และวิกฤตินี้บริษัทยังมีกากอ้อยมากพอในการผลิตไฟฟ้า จึงไม่มีปัญหาต่อการผลิตไฟฟ้าแต่อย่างใด

นายอิสสระ กล่าวว่า หากวัตถุดิบไม่พอ จะมีวัตถุดิบอื่นมาใช้ทดแทนกากอ้อย เช่น เปลือกไม้ ใบอ้อยแห้งเพื่อเป็นแรงจูงใจตัดอ้อยสดให้มากขึ้นซึ่งจะมีโครงการนี้ในปีหน้า ก็จะช่วยให้ชาวไร่ไม่เผาไร่อ้อย หากต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นตามวัตถุดิบจากภายนอก ทางโรงผลิตไฟฟ้า จะรับไว้เองเพื่อไม่ให้กระทบต่อกองทุนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ