ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 2.5 หมื่นลบ.ของ CPALL ที่ "AA-" แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 23, 2020 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ระดับ "AA-" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "AA-" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปจ่ายชำระหนี้เดิมและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย ลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การมีเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งและครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความกังวลเกี่ยวกับอำนาจซื้อที่อ่อนแอลงของผู้บริโภค ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยยิ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบในด้านลบต่อภาคธุรกิจค้าปลีกอีกด้วย

ผลการดำเนินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่ากับ 5.23 หมื่นล้านบาทในปี 2562 และ 1.37 หมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เทียบกับระดับ 4.21 หมื่นล้านบาทในปี 2559

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเศรษฐกิจที่ซบเซาจะส่งผลลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 เป็นอย่างมาก ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลง 1% ในปี 2563 และจะกลับมาเติบโตในระดับ 6% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดยปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตของรายได้จะมาจากการเปิดสาขาใหม่ ในขณะที่ยอดขายจากสาขาเดิมคาดว่าจะลดลงอย่างมากในปี 2563 และค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564-2565

ภาระหนี้สินของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัทส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จากระดับ 5.5 เท่าในปี 2557

แม้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้น แต่บริษัทยังมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่า หากการลงทุนในกลุ่มเทสโก้ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลต่อความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมาก โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 76% จากระดับ 67.5% ในปี 2562 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5.8 เท่าจากระดับ 3.5 เท่าในปี 2562

เครดิตพินิจ (CreditAlert)

ทริสเรทติ้งได้ประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ให้แก่อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ทั้งหมดของบริษัทมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศที่ระบุว่าบริษัทจะลงทุนในสัดส่วน 40% ใน บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ซึ่งรวมเรียกว่า "กลุ่มเทสโก้เอเชีย" (Tesco Asia Group) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนในส่วนของบริษัทที่สัดส่วน 40% โดยเทียบเท่ากับ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งบริษัทจะใช้เงินกู้ทั้งจำนวนสำหรับการลงทุนในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมในครั้งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทบรรลุเงื่อนไขบังคับก่อน (Conditions Precedent) ตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบไปด้วยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยและ Ministry of Domestic Trade and Consumer Affairs of Malaysia รวมทั้งยังต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ Tesco PLC อีกด้วย ซึ่งบริษัทคาดว่าหากธุรกรรมดังกล่าวได้รับความเห็นชอบแล้ว กระบวนการซื้อกิจการก็จะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2563 นี้

"เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความเห็นของทริสเรทติ้งว่าอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหรือยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจะทบทวน "เครดิตพินิจ" ดังกล่าวอีกครั้งหลังจากที่ทริสเรทติ้งทำการวิเคราะห์ธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย ว่าจะมีผลกระทบต่อสถานะเครดิตของบริษัทมากน้อยเพียงใดอย่างถี่ถ้วนแล้ว

ทริสเรทติ้งมองว่าการซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยเสริมสถานะความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกของบริษัทผ่านการร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทยและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ในครั้งนี้ หากประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ