KTC ลบ 4.72% โบรกฯ แนะ"ขาย"เล็งผลงาน H2/63 อาจแย่ลงจาก NIM หด-แนวโน้ม NPL พุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 30, 2020 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น KTC ราคาไหลลง 4.72% มาอยู่ที่ 30.25 บาท ลดลง 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 131.66 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.35 น. โดยเปิดตลาดที่ 32 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 32 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 30 บาท

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯปรับลดคำแนะนำหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เป็น"ขาย"จากเดิม"ถือ" ประเด็นสำคัญที่ได้จากผู้บริหาร KTC คือ NIM จะลดลงมากกว่าที่เราคาดไว้ และผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/63) จะแย่กว่าในครึ่งปีแรก (H1/63) ซึ่งแปลว่ากำไรมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์อาจจะดีขึ้นเนื่องจาก NPL ชะลอตัวลงในไตรมาส 3/63 เพราะจะมีการเร่งตัดหนี้สูญ และมีการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปรับโครงสร้าง

ดังนั้น จึงปรับเพิ่มสมมติฐาน credit cost ปี 63/64 เพิ่มขึ้นเป็น 7.0%/5.2% (จาก 6.%/4.5%) และปรับสมมติฐานผลตอบแทนสินเชื่อลดลงเหลือ 22%/20% (จากเดิม 22.7%/22%) ส่งผลให้ประมาณการกำไรปี 63/64 ลดลง 21%/14% ซึ่งเมื่อใช้ P/E ที่ 15x บนกำไรเฉลี่ยสองปีข้างหน้าจะทำให้ได้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้าที่ 33 บาท ทั้งนี้ ราคาหุ้นค่อนข้างแพงโดยคิดเป็นเกือบ +1.0 S.D. จากค่าเฉลี่ยระยะยาว

ทั้งนี้ จากนโยบายใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อ P-loan เหลือ 25% (จากเดิมที่ 28%) และสินเชื่อบัตรเครดิตเหลือ 16% (จากเดิม 18%) KTC คาดว่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนสินเชื่อ และ มาร์จิ้นของบริษัทลดลง 2.25% ในครึ่งปีหลัง (H2/63) (หรือประมาณ -1% ในปี 63) และจะส่งผลกระทบเต็มปีในปี 64 โดยบริษัทคาดว่า NIM จะลดลงมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้เพราะ yield สินเชื่อของ KTC มักจะต่ำกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง NIM ที่ลดลงทุก ๆ 1% จะทำให้รายได้ลดลงประมาณ 800 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลงประมาณ 12%

หลังจากนำมาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้ NPL ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1% ของสินเชื่อในไตรมาส 4/62 เป็น 6.6% ในไตรมาส 2/63 เนื่องจากมาตรฐานบัญชีใหม่ไม่อนุญาตให้บริษัท write-off อย่างหักโหม โดยในไตรมาส 2/63 ตัวเลข NPL เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 70% และฉุดให้สัดส่วน NPL coverage ลดลงเหลือแค่ 157% ทั้งนี้ เพื่อลด NPL ลง บริษัทกำลังหารือกับผู้สอบบัญชีเพื่อปรับวิธีการจัดชั้น NPL และ TDR ให้มีลักษณะอนุรักษ์นิยมน้อยลงกว่าเดิมเพื่อรักษาสัดส่วนสำรองฯ/หนี้เสีย (NPL coverage) เอาไว้ไม่น้อยกว่า 100% ซึ่งถ้าหาก KTC สามารถรักษาระดับ NPL เอาไว้ได้ที่ไตรมาสละ 300 ล้านบาท (เหมือนกับใน 1H63) สัดส่วน NPL ก็จะพุ่งขึ้นเป็น 9-10% และจะฉุดให้ NPL coverage ลดลงเหลือประมาณ 125% (จาก 157% ในปัจจุบัน)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ