กฟผ.เล็งเสนอรัฐปลดระวางโรงไฟฟ้าเอกชนก่อนหมดอายุช่วยลดสำรอง ,พร้อมจ่ายชดเชย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 19, 2020 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานและกฟผ. อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการลดปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันพุ่งขึ้นถึงระดับ 40% จากเกณฑ์ปกติที่ควรอยู่ระดับ 15% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจชะลอตัวฉุดให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าหดตัวลง ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมด้วย

สำหรับการพิจารณาเบื้องต้น มีหลายแนวทางที่จะช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้า เช่น การเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค โดยจะต้องมีการสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับ เชื่อมต่อขายไฟฟ้าไปยังเมียนมา กัมพูชา โครงการดึงปริมาณไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากสถานีส่งจ่ายไฟฟ้า ไปใช้ในห้องเย็นสำหรับให้บริการเกษตรกรในพื้นที่เพื่อเก็บรักษาผักและผลไม้ ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยเหลือด้วยการให้ใช้ไฟฟ้าฟรี หรือจัดเก็บค่าบริการในอัตราต่ำ เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาเลื่อนแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐว่าจะยึดตามข้อมูลปริมาณสำรองไฟฟ้า หรือยึดความมั่นคงไฟฟ้าตามภูมิภาค ขณะที่ตามแผน PDP2018 จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ที่ยังมีโรงไฟฟ้าไม่เพียงพอ จึงยังมีความจำเป็นที่ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ของกฟผ.ตามแผน ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นของทั้ง 2 โรงไฟฟ้าไปแล้ว แต่จะมีการชะลอโครงการหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐ

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ศึกษาและเตรียมจะเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ให้เจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกสั่งเดินเครื่องผลิต เพราะเป็นโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำ และใกล้จะหมดสัญญาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบประมาณปี 64-68 ได้แก่ โรงไฟฟ้าเอกชน 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) , โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิต ของโรงไฟฟ้าบางปะกง , โรงไฟฟ้าพระนครใต้

อย่างไรก็ตามแม้โรงไฟฟ้าเหล่านี้จะไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ก็ยังได้รับค่าความพร้อมจ่าย (AP) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งหากจะเจราจาเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าเหล่านี้ให้เร็วขึ้น ก็ควรเจรจาจ่ายค่าความพร้อมจ่ายเป็นเงินก้อนเดียว แต่อาจจะอยู่ในวงเงินที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการจ่ายต่อปีตามสัญญาจนครบอายุสัญญา ซึ่งเอกชนก็สามารถนำเงินก้อนส่วนนี้ไปทำประโยชน์ด้านอื่น หรือสามารถวางแผนพัฒนาที่ดินในพื้นที่โรงไฟฟ้านั้น ๆ ได้ต่อไป ขณะที่ประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากการลดสำรองไฟฟ้าที่จะไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินราวหมื่นล้านบาทเพื่อจ่ายค่าความพร้อมจ่ายล่วงหน้า ส่วนจะใช้เงินจากแหล่งใดนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐจะพิจาณา

ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ RATCH กล่าวว่า บริษัทพร้อมเจรจากับภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการลดสำรองไฟฟ้าของประเทศ แต่อยู่ภายใต้ผลประโยชน์ของบริษัทจะต้องไม่เสียหาย ครอบคลุมค่าความพร้อมจ่าย แต่เบื้องต้นยังต้องพิจารณาว่าภาครัฐจะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งการพิจารณาจะต้องไม่ให้ผิดหลักเกณฑ์สินทรัพย์ไม่หมดอายุ ที่อาจจะถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ใกล้จะหมดอายุสัญญา ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 2 ยูนิต ขนาดกำลังผลิตรวม 1,470 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 68

ส่วนโรงไฟฟ้า IPP ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอย่างโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ นั้น เชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับอนุมัติการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว จะเริ่มก่อสร้างปี 64 ขณะที่โรงไฟฟ้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ.เรียบร้อยแล้ว รัฐจึงไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ