ทริสฯ จัดอันดับหุ้นกู้ไม่เกิน 1.1 หมื่นลบ.ของ TPIPL ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 24, 2020 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.1 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทตั้งใจที่จะจัดสรรเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้เป็นจำนวนเงินรวม 9.6 พันล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2564 โดยส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ บริษัทวางแผนจะทยอยออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2563 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 เพื่อเตรียมการไถ่ถอนหุ้นกู้ขนาดใหญ่ดังกล่าว

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดปูนซีเมนต์ภายในประเทศ รวมถึงประโยชน์จากการขยายการดำเนินงานสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และการมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติก รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel -- RDF) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการประมาณการว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ การกระจุกตัวของแหล่งเงินกู้ และความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์ของหุ้นกู้ชุดเก่าที่กล่าวในเบื้องต้น

ความแข็งแกร่งทางเครดิตของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากสถานะที่มั่นคงของธุรกิจผลิตไฟฟ้า จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดที่เสถียรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงสร้างกำไรเป็นสัดส่วนใหญ่ให้แก่กลุ่ม ความเสี่ยงด้านผลการดำเนินงานในระยะกลางน่าจะเกิดจากผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่มีต่อธุรกิจปูนซีเมนต์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากำไรที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะช่วยให้บริษัทให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากดังกล่าวได้

บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักได้ยื่นข้อเสนอในการขอเป็นผู้พัฒนาในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) ของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของภาคใต้ของประเทศไทย ผ่านการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม การส่งออก การจ้างงาน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเขตภาคใต้ การพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าขนาด 3,700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้ก๊าซธรรมชาติ พืชชีวมวล หรือแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้พัฒนาโครงการดังกล่าว บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ได้ทยอยรวบรวมที่ดินจำนวนกว่า 16,700 ไร่ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยการซื้อที่ดินดังกล่าวคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การซื้อที่ดินมีแนวโน้มที่จะทำให้ระดับหนี้โดยรวมของกลุ่มสูงขึ้นเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบในหลักการในการเริ่มพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลาดังกล่าว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการพัฒนาอาจจะต้องใช้เวลานานเนื่องจากขั้นตอนของระบบราชการที่อาจจะล่าช้า โดยโครงการยังต้องการการอนุมัติเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลก่อนที่การพัฒนาจะเริ่มขึ้นได้

ในกรณีที่ TPIPP ได้รับสิทธิอย่างเป็นทางการในการพัฒนาโครงการดังกล่าว บริษัททีจะยังต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมาก แต่คาดว่าบริษัทจะจัดการโครงสร้างของโครงการและจัดหาแหล่งเงินอย่างรอบคอบ เพื่อหลีกเลี่ยงการด้อยลงอย่างรวดเร็วของงบการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม หากการพัฒนาโครงการประสบความสำเร็จ โครงการนี้น่าจะเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้ของกระแสเงินสดมีการเติบโตและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน

ภาระหนี้สินต่อกระแสเงินสดของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแต่จะยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เนื่องจากกำไรของธุรกิจผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงประกอบกับหนี้สินที่จะเพิ่มขึ้นจากการจัดซื้อที่ดินและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งใหม่ โดยกำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากส่วนเพิ่มของราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่จะเริ่มทยอยหมดอายุในปี 2565 สำหรับกำลังการผลิตตามสัญญาจำนวน 73 เมกะวัตต์จากทั้งหมด 163 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากนั้นบริษัทจะยังสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในอัตราค่าไฟฟ้าราคาพื้นฐานได้

ทริสเรทติ้งคาดการณ์กำไรโดยรวมก่อนหัก ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะทรงตัวที่ 8.0-8.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2564 ก่อนที่จะลดลงเป็น 7.5 พันล้านบาทในปี 2565 จากแผนการลงทุนของบริษัท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนหัก ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 7.0-7.5 เท่า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 10% กระแสเงินสดอาจมากกว่าที่คาดหากยอดขายปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญหลังจากผ่านพ้นช่วงโรคโควิด 19 นอกจากนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของกำไรในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ รวมถึงการพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

บริษัทมีหุ้นกู้ขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 9.6 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2564 นี้ โดยบริษัทวางแผนจะลดความเสี่ยงในการไถ่ถอนหุ้นกู้ โดยการทยอยออกหุ้นกู้ชุดใหม่ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรับมือความเสี่ยงในการ ไถ่ถอนนี้ได้ โดยพิจารณาจากประวัติในการออกหุ้นกู้ อีกทั้ง บริษัทยังอยู่ในระหว่างการขอวงเงินสินเชื่อสำรองในกรณีที่ไม่สามารถการออกหุ้นกู้ได้ครบตามที่วางแผนไว้ด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าสถานะในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกจะยังคงเดิม ในขณะที่ธุรกิจพลังงานจะยังคงมีผลประกอบการที่เสถียร และช่วยส่งเสริมความสามารถในการทำกำไรให้แก่กลุ่ม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินต่อกระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วงที่คาดการณ์ไว้ และคาดว่าบริษัทจะรักษาโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้อย่างรอบคอบหากบริษัทได้รับอนุญาตให้เป็นผู้พัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นมีจำกัดในเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ตาม การปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงต่ำกว่า 6 เท่าเป็นเวลานานและบริษัทสามารถกระจายแหล่งกู้ยืมได้ ภาระหนี้สินที่ลดลงยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นได้

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบื้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่สูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงจากธุรกิจปูนซีเมนต์ที่อ่อนแอลง รวมถึงผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ด้อยกว่าที่คาดไว้ และการลงทุนโดยใช้หนี้เงินกู้ขนาดใหญ่ ในขณะที่การสูญเสียส่วนทุนจำนวนมากจากคดีฟ้องร้องที่ยังคงค้างอยู่ก็อาจก่อให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ