(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.เสนอคลังแก้กม.เปิดทางกู้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของลูกจ้างยามจำเป็น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 7, 2020 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงการคลังแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางให้ลูกจ้างสามารถกู้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนที่เป็นการออมของฝั่งลูกจ้างเพื่อนำมาใช้เมื่อยามจำเป็น หลังจากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการลดการจ้างงานหรือลดค่าจ้าง เงินเดือน ทำให้ลูกจ้างเกิดความเดือดร้อน ซึ่งหากกระทรวงการคลังเห็นด้วยในหลักการแล้วจะมีการกำหนดรายละเอียดต่อไป

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ต้องรับข้อเท็จจริงวันนี้ว่าหากเน้นให้มีการออมในเวลานี้ โดยเฉพาะเมื่อมีสถานการณ์โควิดจังหวะเวลาอาจไม่ค่อยตรงจุดนัก เพราะบางคนต้องว่างงาน หรือบางคนอาจจะได้รับทำงานเป็นบางช่วงเวลา หากยืนยันว่าต้องออมเท่านั้นเท่านี้เหมือนเดิมคงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์

"จริง ๆ กลุ่มนี้เราตั้งเป้าหมายว่ามีคนเพิ่มเข้ามาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกี่เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้ต้องขออนุญาตบอร์ดว่าคงจะเน้นอย่างนั้นไม่ได้...จะต้องแก้ไขกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราเสนอไปว่าจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น ในต่างประเทศบางประเทศในกรณีจำเป็นฉุกเฉินเขาอนุญาตให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในฝั่งลูกจ้างสามารถกู้เงินออกมาใช้ได้ชั่วคราว"นาวสาวรื่นวดี กล่าว

ดังนั้น ก.ล.ต.จึงเสนอไปยังกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขกฎหมายเปิดทางให้ลูกจ้างสามารถกู้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนที่ลูกจ้างเป็นผู้ออมออกไปใช้ในยามจำเป็นได้ ดีกว่าให้ไปกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด และไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ต่างประเทศดำเนินการ

"ยามที่ไม่มีปัญหาก็พร้อมสนับสนุน (ให้ออม) แต่ยามที่เขามีปัญหาติดขัดเราก็พร้อมหาทางออกให้เขาด้วย"นางสาวรื่นวดี กล่าว

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวอีกว่า ในประเด็นที่กระทรวงการคลังพูดถึงระบบการออมภาคบังคับ ก.ล.ต.ก็ให้การสนับสนุนเต็ม 100% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่กระทรวงการคลังจะนำเสนอเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

โดย ก.ล.ต.เสนอความเห็นเพิ่มเติมไปว่าอยากเห็นความยืดหยุ่น เพราะชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนย้ายงาน ไม่มีใครทำงานที่ไหนตลอดชีวิต ดังนั้น การย้ายกองทุนฯ จากนายจ้างรายหนึ่งไปอีกรายหนึ่งจะต้องมีความสะดวก และภาษีต้องไม่เป็นอุปสรรคด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ยืดหยุ่นไปแล้ว กรอบการคิดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเป็นต้องยืดหยุ่นตาม นอกจากนั้นการไถ่ถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจจะต้องสามารถทยอยจ่ายเป็นงวดได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ