GGC คาด Q4/63 กำไรสต็อก,เลื่อนสรุปพันธมิตรไบโอพลาสติก-ไบโอเคมิคอลไปปี 64

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 23, 2020 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววัลภา โสภิสเขื่อนขันธ์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการเงินและการบัญชี บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าไตรมาส 4/63 จะพลิกมีกำไรจากการสต็อก (Stock Gain) เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันปล์มดิบ (CPO) ในช่วงต้นเดือน พ.ย.63 ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาที่ระดับ 37.35 บาท/กิโลกรัม จากเดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 30 บาท/กิโลกรัม และเทียบกับในไตรมาส 1/63 เคยทำได้สูงสุดอยู่ที่ 39 บาท/กิโลกรัม

ขณะเดียวกันความต้องการใช้ไบโอดีเซลก็ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว แต่ก็อาจจะไม่ดีเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเต็มที่ ประกอบกับบริษัทอยู่ระหว่างติดตามผลของมาตรการส่งเสริม B10 ว่าจะได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด

ส่วนผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ (FA) ในแง่ของวัตถุดิบคาดว่าจะมีผลผลิตออกมาน้อย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยราคาคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคา CPO, DIP และ MPOB นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากผลผลิตของมะพร้าวที่ออกมาน้อยในประเทศฟิลิปปินส์เนื่องจากมีพายุใต้ฝุ่นส่งผลทำให้ราคาวัตถุดิบน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ (CPKO) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ความต้องการ FA ในไตรมาส 4/63 ก็คาดว่าจะมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลมอบของขวัญที่จะมีการผลิตสินค้าในกลุ่มครีมและโลชั่นค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยลบจากการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในบางประเทศ ส่วนด้านซัพพลายคาดว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อย จากผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิตหลังราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้นมาก ซึ่งตัวราคาผลิตภัณฑ์อาจจะไม่สามารถปรับราคาตามได้ทัน ทำให้ในไตรมาส 4 นี้ Spread ก็น่าจะปรับตัวแคบลง เนื่องจากผู้ซื้อชะลอการซื้อ เพื่อมองแนวโน้มราคาก่อนจะสั่งซื้อ

ด้าน ผลิตภัณฑ์รีไฟน์กลีเซอรีน (RGL) คาดว่าซัพพลายสูงยังคงกดดันอยู่ จากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ ทำให้การบริโภคน้ำมันไบโอดีเซลปรับตัวลดลง แต่ในส่วนของดีมานด์คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการในกลุ่มสินค้าที่เป็นเครื่องสำอาง และ home and personal care ที่จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงความต้องการในผลิตภัณฑ์ Epichlorohydrin (ECH) ในประเทศจีนด้วย

นางสาววัลภา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้วในปี 64 คาดว่าผลผลิตปาล์มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ราคาวัตถุดิบ CPO ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามนโบายส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบในอัตราส่วน 2 บาท/กิโลกรัม จนถึงเดือน มี.ค.64 ก็อาจทำให้สต็อกปรับตัวลดลงได้ ด้านดีมานด์คาดว่าการเดินทางต่างๆ น่าจะกลับมาดีขึ้น และนโยบายสนับสนุนใช้ B10 ก็ยังต้องติดตามดูว่าจะได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด

ผลิตภัณฑ์ FA คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของผลผลิตมะพร้าวที่ออกมาน้อย แต่ก็อาจจะมีปัจจัยลบจากอินโดนีเซียมีการเก็บภาษีการส่งออก ส่วนความต้องการผลิตภัณฑ์คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้น จากข่าวดีในเรื่องวัคซีนโควิด-19 และพฤติกรรมผู้บริโภคที่รักความสะอาดมากขึ้น โดยมีการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดเพิ่มขึ้น ด้านซัพพลายเองก็น่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้

ด้านความคืบหน้าของโครงการโรงงานผลิตกลีเซอรีนแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 20,000 ตัน/ปี คาดจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 4/63 ส่วนโครงการรนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan Biocomplex : NBC) ที่ GGC ร่วมกับกลุ่มบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เพื่อผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 6 แสนลิตร/วัน หรือ 186 ล้านลิตร/ปี และภายในโครงการก็จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิต 85 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำได้ 475 ตัน/ชั่วโมง คาดว่าจะ COD ได้ในไตรมาส 4/64

นอกจากนี้การต่อยอดจากไบโอคอมเพล็กซ์ไปยังอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) ปัจจุบันบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติกและไบโอเคมิคอลอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย คาดว่าจะสามารถสรุปและเห็นความชัดเจนได้ในปี 64 เลื่อนไปจากเดิมที่คาดว่าจะสรุปได้ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบ รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ราคาพลาสติกปรับตัวลง

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการรองรับการสร้างโรงงานดังกล่าว บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนในไบโอคอมเพล็กซ์ หรือ Ecosystem หรือในเรื่องของสาธารณูปโภคต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ