INTERVIEW: BANPU หนึ่งทศวรรษสู่ตำนานบทใหม่ เจาะแผน 5 ปีอัพ EBITDA พลังงานสะอาดโตเท่าตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 4, 2020 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

INTERVIEW: BANPU หนึ่งทศวรรษสู่ตำนานบทใหม่ เจาะแผน 5 ปีอัพ EBITDA พลังงานสะอาดโตเท่าตัว

ย้อนอดีตไปเกือบสัก 10 ปีหนึ่งในหุ้นระดับของตำนานตลาดหุ้นไทยคงมีรายชื่อของ บมจ.บ้านปู (BANPU) อยู่ลิสต์แน่นอน ด้วยคุณสมบัติหุ้นขนาดใหญ่ มูลค่ามาร์เก็ตแคปกว่า 2 แสนล้านบาท ในยุครุ่งเรืองกับกำไรกิจการเหมืองถ่านหิน สะท้อนผลประกอบการในปี 53 กวาดรายได้กว่า 89,000 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 26,715 ล้านบาทต่อเนื่องมาถึงปี 54 ทำรายได้กว่า 127,400 ล้านบาท และกำไรสุทธิกว่า 25,000 ล้านบาท

แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้ราคาถ่านหินเข้าสู่ขาลง และปัญหาคดีหงสาที่ถูกคู่กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นตัวแปรลบซ้ำเติมวิกฤติซ้อนวิกฤติ กดดันหุ้น BANPU ต้องเผชิญกับแรงขายฉุดราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

ตำนานบทใหม่ของ BANPU ภายใต้ยุคการนำของแม่ทัพหญิงแกร่ง นางสมฤดี ชัยมงคล ที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อปี 58 พร้อมกับยุทธศาสตร์ 5 ปี ด้วยกลยุทธ์ "Greener & Smarter" ปรับโครงสร้างธุรกิจมุ่งเน้นขยายลงทุนโครงการพลังงานสะอาดตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงพลังงานในอนาคตของคนทั่วโลก และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานในมิติต่างๆ มาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการเครือ BANPU เสริมความแข็งแกร่งจากภายในองค์กร

นางสมฤดี ชัยมงคล ซีอีโอกลุ่ม BANPU ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างธุรกิจเครือ BANPU ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทยึดหลักดำเนินธุรกิจบนกลยุทธ์ "Greener & Smarter" ตั้งเป้าวางตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ควบคู่กับสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

แม้จะเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปีก็พิสูจน์แล้วว่า BANPU สามารถเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่เทรนด์อนาคตของโลกพลังงานอย่างแท้จริง ประกอบด้วย 3 เทรนด์หลัก ได้แก่ "Decarbonization" หรือการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการลดมลภาวะ, "Decentralization" คือ การที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ จะเริ่มหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง และสุดท้าย คือ "Digitalization" คือ เทรนด์ธุรกิจยุคดิจิทัลที่จะพัฒนามาใช้เทคโนโลยีด้าน IoT กันมากขึ้น

"แผนพัฒนา Greener & Smarter ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสัดส่วนมากกว่า 90% เป็นการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดทั้งหมด เช่น พลังงานก๊าซ ,พลังงานทดแทนต่างๆ รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีด้านพลังงานเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) ที่เป็นเรือธงหลักการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีของกลุ่มบ้านปู"

*ทุ่มงบกว่า 3 หมื่นลบ.เร่งเครื่องธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า (64-68) ดัน EBITDA พลังงานสะอาดโตเท่าตัว

นางสมฤดี กล่าวต่อว่า แผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม BANPU ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (64-68) บริษัทยังมุ่งยึดกลยุทธ์หลัก "Greener & Smarter" แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือจะเพิ่มคำว่า "Faster" เข้าไปด้วย นั่นแปลว่า 5 ปีต่อจากนี้ไปจะเป็นช่วงของการเร่งเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม BANPU ให้กลายเป็น Greener & Smarter อย่างชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่แผนการใช้งบลงทุนระยะ 5 ปีต่อจากนี้ บริษัทวางงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายพอร์ตโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, โซลาร์รูฟท็อป, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ รวมถึงต่อยอดเทคโนโลยีด้านพลังงาน อ

อย่างไรก็ตาม การใช้งบลงทุนแต่ละครั้งคงต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ซึ่งในปี 64-65 ประเมินว่าภาพเศรษฐกิจอาจยังไม่มีความแน่นอนสูง ซึ่งเป็นตัวแปรที่อาจยังไม่ตัดสินใจขยายการลงทุนในขนาดใหญ่ช่วง 1-2 ปีนี้ แต่คงต้องไปดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของแผน

ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปีการเร่งเพิ่มโครงการพลังงานสะอาด บริษัทมีเป้าหมายว่าโครงการที่เป็นพลังงานสะอาดในปี 68 จะต้องมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นมาเป็นมากกว่า 50% ของ EBITDA รวม เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 63 ที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 20% เป็นผลจากการลงทุนหลายโครงการในต่างประเทศ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์,พลังงานลม, โซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าก๊าซ

ทั้งนี้ แนวทางการขยายลงทุนเพิ่มพอร์ตโครงการพลังงานสะอาดจะเป็นทั้งรูปแบบลงทุนด้วยบริษัทเอง ,การร่วมทุนกับพันธมิตร ,รวมถึงแสวงหาโอกาสเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมในประเทศที่มีศักยภาพในอนาคต

*ส่องโปรเจ็คต์ใหม่ลุ้นปิดดีลโรงไฟฟ้า Shale Gas

นางสมฤดี กล่าวถึงความคืบหน้าผลการศึกษาการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติที่มาจากแหล่ง Shale Gas ในประเทศสหรัฐว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียดรอบด้าน แม้ว่าโครงการดังกล่าวใช้เวลาศึกษากันมาเป็นปีแล้ว แต่วันนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 หลายคนจึงมองว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลาลงทุนครั้งใหญ่ แต่หากโมเดลโรงไฟฟ้าก๊าซชัดเจนแล้วว่าเกิด Synergy กับแหล่ง Shale Gas ของ BANPU ในประเทศสหรัฐดีลดังกล่าวก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ปัจจุบัน กลุ่ม BANPU ลงทุนธุรกิจแหล่งผลิต Shale Gas 2 แห่งในประเทศสหรัฐ ประกอบด้วย แหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย กำลังผลิตรวมประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเท็กซัส กำลังผลิตรวมประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้บ้านปูเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตก๊าซที่ใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกในสหรัฐ มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองอย่างน้อย 12 ปี และสามารถขยายได้อีกหากปัจจัยราคาเกื้อหนุนถือเป็นการเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน

ส่วนแผนขยายโครงการพลังงานสะอาดตามแผน 5 ปี คือการทยอยลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ที่เป็นโครงการอยู่ในประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม และในอนาคตมีโอกาสเข้าไปขยายโครงการในประเทศออสเตรเลียด้วย ทำให้ตามแผน 5 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม BANPU ที่เป็นพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 300 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการโซลาร์รูฟท็อป ที่ปัจจุบันมีกว่า 200 เมกะวัตต์จะเพิ่มขึ้นเป็น 500 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากก๊าซที่ปัจจุบันมีกว่า 2,800 เมกะวัตต์ อีก 5 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 4,300 เมกะวัตต์ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนต้องเพิ่มอีก 1,500 เมกะวัตต์นั้นจะมุ่งเน้นเป็นพลังงานสะอาดเช่นกัน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติจะเป็นลักษณะการ Synergy กับแหล่ง Shale Gas ของบ้านปูในสหรัฐ เป็นต้น

*ปลดล็อกหุ้น BANPU ลดผูกติดกับถ่านหิน

ซีอีโอหญิงแห่ง BANPU กล่าวว่า แม้ว่าหุ้น BANPU คนส่วนใหญ่จะมองว่าผูกกับราคาถ่านหินเป็นหลัก แต่อยากให้นักลงทุนพิจารณาถึงโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงจากการลงทุนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยโครงสร้างธุรกิจ ณ สิ้นปี 63 เมื่อมองไส้ในวิเคราะห์ EBITDA จะพบว่าเป็นโครงการพลังงานสะอาดกว่า 20% และปี 68 จะเพิ่มสัดส่วนมากกว่า 50% สะท้อนว่าความผันผวนของผลประกอบการของ BANPU ที่จากเดิมขึ้นอยู่กับราคาถ่านหินก็จะลดลงตามลำดับและมีความมั่นคงมากขึ้น

ข้อที่สองที่อยากให้นักลงทุนมองแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก แม้ว่าความต้องการใช้ถ่านหินในโลกจะยังไม่หายไป แต่การเติบโตจะลดลงมาเหลือเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% เท่านั้น แตกต่างกับความต้องการใช้ก๊าซที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับพลังงานสะอาด สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจ BANPU ระยะยาว ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านกระแสเงินสดอย่างดี

นางสมฤดี กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากให้นักลงทุนมองความแข็งแกร่งของกลุ่ม BANPU คือตัวเลข EBITDA มากกว่าที่จะไปมองเรื่องรายได้และกำไรสุทธิแต่ละปี เพราะสะท้อนความแข็งแกร่งของธุรกิจเครืออย่างแท้จริง เนื่องจากบริษัทใช้มาตรฐานบัญชีระดับสูงสุดหากมองเพียงอัตรากำไรก็จะไม่ได้สะท้อนกระแสเงินสดที่เข้ามาอย่างชัดเจน แต่หากมอง EBITDA จะเห็นความสามารถทำกำไรทุกธุรกิจตัดผลกระทบปัจจัยแวดล้อมออกไป เพราะหนึ่งในตัวแปรที่มีผลต่อกำไรขาดทุนสุทธิคือ "อัตราแลกเปลี่ยน"

ยกตัวอย่างช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า กำไรสุทธิ BANPU ก็จะปรับตัวขึ้นสูงมากๆ แต่อยากให้ผู้ลงทุนระวังไว้ด้วยเพราะไม่ใช่กำไรแท้จริง แต่เป็นผลบวกทางบัญชีเท่านั้น กรณีเงินบาทแข็ง ผลประกอบการ BANPU จะขาดทุนสูงมาก ก็ไม่อยากให้ตกใจเพราะไม่ใช่เกิดจากผลขาดทุนจริงๆเป็นเพียงขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งผู้ลงทุนที่อยากลงทุนหุ้น BANPU อยากให้ยึด EBITDA เป็นหลัก

*ลุ้นผลงาน Q4/63 ดีขึ้น แต่บาทแข็งเสี่ยงฉุดตัวเลขทางบัญชี

สำหรับแนวโน้มราคาถ่านหินและก๊าซในไตรมาส 4/63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดดเด่นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 เป็นส่วนสนับสนุนภาพรวมผลประกอบการบริษัทช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ เช่น ราคาก๊าซในสหรัฐสิ้นสุดไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 1.6 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่เข้ามาในไตรมาส 4/63 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.5 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู หรือบางช่วงอาจปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 2.7 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู นับว่าเป็นการปรับตัวขึ้นมากกว่า 80% หากเทียบกับราคาในไตรมาส 3/63

เช่นเดียวกับราคาถ่านหินที่เคยอยู่ระดับ 58-59 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในไตรมาส 4/63 ขึ้นมาเป็น 67 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ผลบวกจากไฮซีซั่นฤดูหนาว และอีกส่วนมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและประเทศอินเดียหลังจากภาวะวิกฤติโควิด-19 ผ่อนคลายไปบ้างแล้ว

นอกจากนี้ BANPU เริ่มรับรู้รายได้จากการปิดดีลเข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ประเทศสหรัฐในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทสามารถรับรู้กระแสเงินสดและกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเต็มๆ ในไตรมาส 4/63 นี้ ปัจจุบันกระแสเงินสดของบริษัทอยู่ที่ราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"บ้านปูมองว่าราคา Commodity ที่ปรับตัวดีขึ้นจะเป็นอัพไซด์ให้กับผู้ลงทุน เพราะนโยบายของผู้บริหารยังยึดหลักการบริหารต้นทุน ทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นมาชัดเจน แต่หากมองด้านกำไรสุทธิในไตรมาส 4/63 ยังคงมีปัจจัยภายนอกอย่างอัตราแลกเปลี่ยนจาก "เงินบาทแข็งค่า" ซึ่งกระทบตัวเลขทางบัญชีจึงอยากให้นักลงทุนวิเคราะห์กันให้ชัดเจน"นางสมฤดี กล่าว

https://youtu.be/VwsMNkFJL_8


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ