บมจ.ท่าอากาศไทย (AOT) หรือ ทอท.เตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) ให้ใช้สนามบินดอนเมืองรับเพิ่มเที่ยวบินต่างประเทศ 25 สายการบิน ชี้ข้อดีช่วยชะลอการลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะ 2 ที่ต้องใช้เงินทุน 6.7 หมื่นล้านบาทได้ 3-4 ปี นางกัลยา ผกากรอง รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการทอท.วันที่ 27 ก.ย.นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางย้ายเที่ยวบินระหว่างประเทศมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเบื้องต้นพบว่าเที่ยวบินที่เหมาะสมจะนำกลับมาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง คือเที่ยวบินที่ไม่มีการเชื่อมต่อ(NON-CONNECTING FLIGHT)ของสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินในภูมิภาค ทั้งนี้ เที่ยวบินในกลุ่มดังกล่าว ประกอบด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ 8 สายการบิน และสายการบินแบบจุดต่อจุดที่ไม่มีผู้โดยสารผ่านหรือเปลี่ยนเที่ยวบินอีก 17 สายการบิน โดยปริมาณจราจรในกลุ่มนี้คิดเป็น 23.2% ของเที่ยวบินทั้งหมดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีปริมาณผู้โดยสารคิดเป็น 14.7% ของปริมาณผู้โดยสารทั้งหมดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สาเหตุที่กำหนดเงื่อนไขว่าจะรองรับเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ไม่มีการเชื่อมต่อเที่ยวบิน เพราะทอท.ไม่มีบริการรองรับในการเดินทางระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ส่วนจะมีสายการบินย้ายมาให้บริการมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละสายการบิน โดยทอท.จะใช้อาคาร 1 ในการให้บริการ "ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับผู้โดยสารได้ 36 ล้านคน การเปิดใช้ทั้งสองท่าอากาศยานจะทำให้รองรับผู้โดยสารได้ทันทีถึง 81 ล้านคน โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำ และเชื่อว่าการเปิดให้บริการในรูปแบบนี้จะไม่สร้างความสับสนแก่ผู้โดยสาร"นางกัลยา กล่าว ข้อดีของแนวทางดังกล่าวคือ สามารถชะลอการลงทุนของทอท.ในการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อีก 3-4 ปี ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงถึง 6.7 หมื่นล้านบาท และยังช่วยลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลงได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่คือท่าอากาศยานดอนเมืองได้อย่างคุ้มค่า "สายการบินอาจต้องลงทุนเพิ่มเติมบ้างในการย้ายกลับมาท่าอากาศยานดอนเมือง แต่คงเป็นเงินไม่มากนัก โดยสายการบินมีสิทธิวิเคราะห์และตัดสินใจว่าจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ถ้าจะย้ายกลับมา ซึ่งเราไม่ได้บังคับ ในส่วนของทอท.อาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เทียบกับเม็ดเงินที่ต้องลงทุนขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือว่าคุ้มค่าแน่นอน"นางกัลยา กล่าว ส่วนอัตราค่าบริการต่างๆที่จะเรียกเก็บจากสายการบินเหล่านี้จะเป็นอัตราเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการให้บริการของสายการบิน แต่ท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีข้อได้เปรียบด้านกายภาพเพราะเครื่องบินสามารถใช้เวลาจอดน้อยลง