(เพิ่มเติม) PACO เคาะราคาขาย IPO หุ้นละ 1.40 บาท เปิดจอง 10-12 มี.ค.เทรด 22 มี.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 9, 2021 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนวนไม่เกิน 260,000,000 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.40 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 10-12 มี.ค.64 โดยมี บล.คิงส์ฟอร์ด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ร่วมกับ บล.เคทีบีเอสที บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) และมีกำหนดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 22 มี.ค.นี้

สำหรับที่มาของการกำหนดราคาเสนอขายในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio : P/E) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 1.40 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 18.42 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 76.86 ล้านบาท และคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จำนวน 260,000,000 หุ้น (Fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 0.076 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิดังกล่าวคำนวณจากผลประกอบการในอดีต โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

ทั้งนี้ PACO มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ก่อตั้งมาแล้วกว่า 30 ปี เป็น 1 ในผู้บุกเบิกการผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ของไทย และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อะไหล่แอร์รถยนต์แบบครบวงจร ทั้งคอยล์ร้อน และคอยล์เย็น สำหรับรถที่มียอดจำหน่ายปานกลางถึงสูง ทั้งรถญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา รวมมากถึง 2,600 รุ่น ปัจจุบันมีโรงงานผลิต 3 แห่งใน จ.สมุทรสาคร และศูนย์กระจายสินค้า 1 แห่งในกรุงเทพมหานคร บริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 และจำหน่ายสินค้าทั้งภายในประเทศ และส่งออกไปทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป อเมริกาใต้ เอเชียและออสเตรเลีย

บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO รวม 347.65 ล้านบาท เพื่อชำระคืนเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน 200 ล้านบาท, ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 107.65 ล้านบาท, การลงทุนในโครงการอนาคต 40 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างคลังสินค้าและย้ายจุดกระจายสินค้าในประเทศ 20 ล้านบาทในพื้นที่โรงงาน PACO 2 (มีที่ดินพร้อมสร้างแล้ว) และ โครงการการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าและขยายตลาดในประเทศมาเลเซีย 20 ล้านบาท

นายสมชาย เลิศขจรกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACO กล่าวว่า บริษัทมั่นใจผลประกอบการจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปี 63 ที่มีรายได้ 678 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 76.86 ล้านบาท โดยเป็นไปตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว และมีการเดินทางมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น

บริษัทเตรียมที่จะขยายตัวแทนจำหน่ายร้านค้าเพิ่มเป็น 200 แห่ง จากปัจจุบันที่ 150 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการลงทุนคลังสินค้าแห่งใหม่ ตั้งบริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้าในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน มูลค่า 38 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ราว 9 ล้านบาท/ปี

"ราคาหุ้น IPO ของเรามี P/E ที่ 18 เท่า เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมถือว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากอุตสาหกรรมมีระดับ P/E ที่ 21 เท่า และในอนาคตเรายังมีทิศทางการเติบโตอีกมาก จากตลาดรถยนต์ที่เติบโตต่อเนื่อในทุกๆปี และบริษัทได้สร้างแบรนด์ที่เข้มแข็งเพื่อรองรับความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"นายสมชาย กล่าว

นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการผู้จัดการ บล.คิงส์ฟอร์ด คาดว่า PACO จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างสูง เนื่องจากเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอะไหล่แอร์รถยนต์ในตลาดชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทน (REM หรือ Aftermarket) ระดับนานาชาติที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง มีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดอะไหล่รถยนต์ทั่วโลก

และ PACO มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิระดับสูง โดยในปี 63 มีกำไรสุทธิ 76.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.19 ล้านบาท คิดเป็น 150.63% เมื่อเทียบกับปี 62 เนื่องจากได้นำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาติดตั้งและดำเนินการได้เต็มที่ ส่งผลให้เกิดการปรับกระบวนการทำงานในการผลิตเพื่อควบคุมการใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถลดต้นทุนค่าแรงและค่าล่วงเวลาได้อย่างมีนัยสำคัญ


แท็ก ฟอร์ด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ