THAI เตรียมปรับราคาตั๋วชั้นประหยัด ต.ค.นี้หวังดันรายได้เพิ่มปีละ 6-8%

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday September 2, 2007 10:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายปานฑิต ชนะภัย ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย(THAI) เปิดเผยว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการพาณิชย์ ในเดือน ต.ค.นี้แล้ว เตรียมพิจารณาปรับค่าตั๋วโดยสารชั้นประหยัด (Economy) สำหรับเที่ยวบินต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มอีกปีละ 6-8% ขณะที่ปริมาณที่นั่งไม่ได้เพิ่มขึ้น
โดยบริษัทจะพิจารณาเฉพาะเที่ยวบินที่ได้รับความนิยมจากผู้โดยสารจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการขายตั๋วโดยสารเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1.45 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากชั้นประหยัดประมาณ 75-80% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากบริการชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเน้นหารายได้จากบริการชั้นประหยัดเพิ่มขึ้น โดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการอัตราส่วนการบรรทุกผุ้โดยสาร(CABIN FACTOR) ให้เกิดความสมดุลด้วยการปรับราคาตั๋วโดยสารชั้นประหยัด แต่จะเพิ่มไม่เกิน 10% และใช้วิธีการทยอยปรับปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-4% เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความรู้สึกว่าได้รับความเดือดร้อน
"การปรับค่าตั๋วชั้นประหยัด เราจะพิจารณารายละเอียดเป็นรายเที่ยวบิน เช่น ดูว่าเที่ยวบินใดที่ผู้โดยสารนิยมใช้บริการมาก ก็จะปรับค่าตั๋วเพิ่มขึ้นเพื่อเกลี่ยผู้โดยสารไปยังเที่ยวบินอื่นที่มีผู้โดยสารใช้บริการน้อยกว่า แต่เป็นเที่ยวบินที่เดินทางไปจุดเดียวกันเพียงแต่เวลาเดินทางต่างกันเท่านั้น" นายปานฑิต กล่าว
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และคาดว่าจะเริ่มใช่อัตราใหม่ในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.สูงถึง 78%
ส่วนเส้นทางบินในประเทศยังไม่มีแผนปรับราคา เพราะปัจจุบันบริษัทสามารถทำกำไรจากการให้บริการเส้นทางบินในประเทศได้แล้วหลังปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
"เราเชื่อว่าการปรับค่าตั๋วโดยสารชั้นประหยัดเส้นทางบินต่างประเทศทั้งหมดจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 6-8% ขณะที่ปริมาณที่นั่ง(CAPACITY) ยังคงเท่าเดิมและหลังจากการบินไทยรับมอบเครื่องบินใหม่เข้ามาในฝูงบินเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้บริการในชั้นประหยัดดีขึ้นจะมีจอทีวีส่วนตัวทุกที่นั่ง สู้กับสายการบินอื่นได้แน่" นายปานฑิต กล่าว
สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินในปีหน้าคาดว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเติบโตในจีนและอินเดียซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น การจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิค การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ขณะที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยก็น่าจะดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้สายการบินต่างๆได้รับอานิสงส์โดยทั่วกัน แต่ไทยจะมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ในการเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางท่องเที่ยว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ