PTTEP คาดผลงาน Q2/64 โตกว่า Q1/64 ตามปริมาณขาย,ลุยต่อโครงการ Gas-to-Power เมียนมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 6, 2021 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์. ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 เติบโตกว่าไตรมาส 1/64 ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 8.8 หมื่นบาร์เรล/วัน มาที่ 4.16 แสนบาร์เรล/วัน จากการรับรู้ปริมาณขายของแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบก block 61 ในประเทศโอมานเข้ามาเต็มไตรมาส และคาดจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสแรกได้

ขณะที่คาดราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในไตรมาส 2/64 น่าจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 5.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู เป็นไปตามความต้องการลดลง หลังผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวไปแล้ว รวมถึงกำลังการผลิตที่ยังล้นตลาด เนื่องจากมีกำลังการผลิตทั้งโครงการเดิมและโครงการใหม่สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 26 ล้านตัน ส่งผลทำให้กำลังการผลิตในปีนี้จะอยู่ที่ 391 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ LNG อยู่ในระดับประมาณ 377 ล้านตัน

ด้านราคาน้ำมันดิบปีนี้ บริษัทคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19, การบังคับใช้มาตรการปิดประเทศ, ความคืบหน้าการทยอยฉีดวัคซีนว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้ผลดีขนาดไหน แต่อย่างไรก็ตามความสำคัญก็ยังอยู่ที่การบริหารนโยบายการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตหลัก เช่น โอเปกพลัส รัสเซีย และสหรัฐ รวมถึงมาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา

น.ส.อรชร กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายปริมาณขายในปีนี้ บริษัทคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.05 แสนบาร์เรล/วัน และราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 5.6 ดอลลาร์/ล้านบีทียู รวมถึงคาดอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 70-72%

ส่วนความคืบหน้าโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Sabah H ก็มีการจ่ายแก๊สครั้งแรก (First Gas) ไปเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขายให้กับบริษัทได้ในปีนี้, โครงการเอสเค SK410B (LLB) แหล่ง Lang Lebah ได้ทำการเจาะหลุมประเมินศักยภาพ Lang Lebah-2 แล้วเสร็จในเดือน ม.ค.64 และพบแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่สุดของบริษัท ประเมินเบื้องต้นว่าจะสามารถพัฒนาได้ถึง 800-1,000 MMSCFD ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ขึ้น คาดว่าจะสามารถประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ในปี 65

นอกจากนี้ยังมีโครงการเมียนมา เอ็ม 3 ที่คาดว่าจะมีการตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 65 ซึ่งจะเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนา โครงการโรงไฟฟ้า Gas-to-Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ (MW) ที่ยังเดินหน้าตามผนงานหลังจากได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.63 แต่ยอมรับว่าการเข้าสำรวจพื้นที่อาจจะมีการล่าช้าไปบ้างจากผลกระทบสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีการเจรจาออกแบบทางด้านวิศวกรรม การเจรจาสัญญาร่วมทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมไปถึงการเจรจราเรื่องการรับซื้อขายไฟฟ้า และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 68


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ