ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 345,585.04 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 28, 2021 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (21 - 25 มิถุนายน 2564) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 345,585.04 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 69,117.01 ล้านบาท ปรับตัวเ พิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 18% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 172,216 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 100,807 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 14,654 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% และ 4% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB31DA (อายุ 10.5 ปี) LB29DA (อายุ 8.5 ปี) และ LB246A (อายุ 3.0 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 22,128 ล้านบาท 12,178 ล้านบาท และ 8,583 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

รุ่น GPSC34NA (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 993 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รุ่น TBEV233A (AA)

มูลค่าการซื้อขาย 662 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รุ่น CPF331A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 623 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงประมาณ 4-6 bps. ในตราสารระยะยาว เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดมีค่อนข้างน้อย ประกอบกับ ธปท. ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว 1.8% ในปี 64 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.0% สำหรับผลประชุมประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันพุธที่ 23 มิ.ย. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่า การระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้น อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้ม เผชิญความเสี่ยงสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ ด้านปัจจัยต่างประเทศ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วย วิกฤตการณ์โควิด-19 ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและครอบคลุม และจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับ ภาวะเงินเฟ้อเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วเกินไป ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสใน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ ซึ่งมีวงเงิน 5.79 แสนล้านดอลลาร์นั้น มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน

สัปดาห์ที่ผ่านมา (21 - 25 มิถุนายน 2564) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 1,369 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (ST) (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 6,661 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (LT) (อายุมากกว่า 1 ปี) 4,706 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 587 ล้านบาท

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย	                                   สัปดาห์นี้         สัปดาห์ก่อนหน้า    เปลี่ยนแปลง             สะสมตั้งแต่ต้นปี
	                                               (21 - 25 มิ.ย. 64)  (14 - 18 มิ.ย. 64)          (%)    (1 ม.ค. - 25 มิ.ย. 64)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)              345,585.04         293,506.02        17.74%            7,868,917.21
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                                 69,117.01          58,701.20        17.74%               68,425.37
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                      111.07             111.03         0.04%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)                        105.46             105.36         0.09%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                     1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (25 มิ.ย. 64)                     0.35       0.45    0.48    0.61    0.86     1.81      2.3     2.76
สัปดาห์ก่อนหน้า (18 มิ.ย. 64)                0.34       0.44    0.48    0.63    0.92     1.86     2.34     2.77
เปลี่ยนแปลง (basis point)                    1          1       0      -2      -6       -5       -4       -1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ