นักวิเคราะห์มองวัคซีนจุดเปลี่ยนโควิดในไทยเชื่อพีค Q3/64 แนะซื้อหากลงต่ำ 1,500 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 9, 2021 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักวิเคราะห์กลยุทธ์อาวุโส บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวงานเสวนาหัวข้อ" โควิดบานปลาย เศรษฐกิจโลกเปลี่ยน จะปรับพอร์ตอย่างไร"ว่า ตลาดหุ้นไทยรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่ลงมาราว 100 จุด จากที่ขึ้นไปสูงสุดรอบก่อนหน้านี้ที่ 1,640 จุด เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงกว่าหมื่นคน กระทบกลุ่มท่องเที่ยวก่อนและกลุ่มแบงก์ก็รับผลกระทบด้วยจากความกังวลหนี้ NPL อย่างไรก็ดี กลุ่ม Global Play ก็ยังไปได้ เช่น กลุ่มเหล็ก และกลุ่มเดินเรือ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์การลงทุนหุ้นไทยน่าจะคลายตัวในไตรมาส 3/64 หลังประเมินว่าสถานการณ์โควิดน่าจะถึงจุดพีคในเดือน ส.ค.สอดคล้องกับที่ฝ่ายสาธารณสุขระบุว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะถึงจุดพีค ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3/64 บอบช้ำที่สุด ซึ่งน่าจะเจอจุด bottom แล้ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสนี้จะติดลบ 2-4% แต่ก็ยังมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเติมเข้ามาในระบบ

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยถูกระทบตั้งแต่เดือน มิ.ย.ถึง ส.ค.64 ราว 2 เดือนครึ่ง โดยคาดว่า GDP น่าจะหายไป 2% แม้โอกาสที่ GDP ปีนี้จะเติบโตเป็นไปได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 2/64 ยังเติบโตได้ดีเพราะฐานในปีก่อนต่ำมาก และไตรมาส 4/64 ก็มีโอกาสตีตื้นขึ้นมาได้ จึงทำให้ GDP ทั้งปี 64 ยังมีลุ้นบวก หรืออาจติดลบเล็กน้อยไม่ถึง 1%

"ภาพความหวังตอนนี้สถานการณ์โควิดเราค่อนข้างดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อกับผู้หายป่วยเริ่มใกล้เคียงกัน(1) จะเห็นว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ระบบสาธารณสุข ความตึงเครียดค่อยๆ ผ่อนคลาย และผู้ฉีดวัคซีน โดยวันศุกร์ทำนิวไฮเกิน 5 แสนราย โดยเดือน ส.ค. มีวัคซีนที่รับบริจาคประมาณ 4 ล้าน ยังไม่นับรวมวัคซีนแอสตร้าฯ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม เพราะฉะนั้นเดือนส.ค.จะเป็นเดือนที่วัคซีนเข้ามาเยอะที่สุด

(2) ผมก็เชื่อว่า เงื่อนไขวัคซีนน่าจะทำงานได้ดีขึ้น และระยะเวลา ตอนนี้ทั่วโลกที่มีการระบาด อย่างอินเดียจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเจอจุดพีค อินโดนีเซีย 3 เดือน มาเลเซีย 2 เดือนกว่าๆ ใกล้ๆกับไทย ดูทั้งโลกใช้เวลา 3 เดือนซึ่งระยะเวลาของเราก็ใกล้ (ถึงจุดพีค) (3) จึงมองว่าสถานการณ์โควิดยังมีความหวัง"

นายณัฐพล กล่าวว่า ส่วนสภาพคล่องในระบบ มีปริมาณเงิน M2 จำนวน 23 ล้านล้านบาท เงินฝาก 16 ล้านล้านบาท ขณะที่มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท เทียบกับปริมาณเงิน M2 จะมีอัตราส่วน 1.3 เท่า ดังนั้น (4) จึงเห็นว่าหุ้นไทยยังพอไปได้ เพราะขณะนี้เราหวังพึ่งเงินในประเทศเป็นหลัก ต่างชาติขายออกอย่างเดียว ปีนี้เม็ดเงินต่างชาติออกไป 1 แสนล้านบาทแล้ว และเงินบาทก็อ่อนค่า ทั้ง 4 เงื่อนไขจะเป็นจุดเปลี่ยนตลาดหุ้นในเดือน ส.ค.ที่จะทำให้ความกังวลต่อสถานการณ์โควิดลดลง

ส่วนกรณี worst case หากมีการคุมการระบาดไม่ได้ถ้าเป็นสายพันธุ์ใหม่อาจจะเหนื่อยมากขึ้น และ ปัจจัยการเมืองในประเทศ ก็อาจทำให้ downside เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ให้กรอบแนวรับไว้ที่ 1,480, 1,420 จุด

นายณัฐพล แนะลงทุนหุ้น defensive ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร และโรงไฟฟ้า อาทิ ADVANC, BCPG, BGRIM, รพ.ขนาดเล็ก หรือ BDMS รอซื้อตอนพักฐาน , หุ้นรับประโยชน์กลุ่มบาทอ่อนที่ยังปรับขึ้น อาทิ STA , GFPT,NYT และหุ้น Laggard ได้แก่ กลุ่มแบงก์ กลุ่ม Commerce กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง-กลุ่มวัสดุก่อสร้างที่รับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ

ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิดขณะนี้ ภาวะควบคุมไม่อยู่ ระบบสาธารสุขค่อนข้างมีปัญหา การฉีดวัคซีนของไทยยังต่ำมีเพียง 20% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศพัฒนา (EM) ฉีดไปเกินกว่า 50% แล้ว บ้านเราก็ยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ภาพรวมยังไม่ชัดเจนว่าทิศทางหรือโมเมมตัมต่างๆ ยังไม่ค่อยปลดล็อกดูจากตัวเลขผู้ติดเขื้อยังถึงจุดพีคได้ยาก เพราะยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อในครอบครัว ซึ่งทำให้ไม่สามารถเค้นตัวเลขที่แท้จริงออกมาได้ หรือทำให้ตัวเลขลดลงได้

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการลงทุนกับตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจตีคู่กันไป หรือไม่สอดคล้องกันไป การปรับตัวลงที่ภาวะโควิดคุมไม่ได้ อาจเป็นจุดหนึ่งที่มองหาโอกาสลงทุน แม้ว่าในช่วงสั้น downside ตลาดยังมีอยู่ แม้ว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์ไม่ได้ทำทั้งประเทศ แต่หากขยายล็อกดาวน์ไปถึงสิ้นเดือนส.ค.ก็เป็นจุดหนึ่งเปิด downside หรือเปิดความเสี่ยง โมเมมตัมโควิดที่ยากจะหาจุดพีค และโมเมมตัมของการใช้มาตรการต่างๆ ที่เชื่อว่าจะต่ออายุ ทำให้มีการกระแทกลง

"แต่ท้ายสุดทุกวิกฤติยังมีโอกาส ด้วยหุ้นแต่ละตัวมี value ของตัวเองก็จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตืไปได้ ไม่ว่าจะเป็นโควิด 1,2,3 ที่ผ่านมาเรื่อยๆ มีการปรับตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่มีแรงกระแทกลงมาจะมีแรงรับตลอด และมีแรงรับที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ โควิด 1 กระแทกลงไปถึง 900 จุด แล้วปรับตัวขึ้นมา แต่โควิด 2,3 ยังกระแทกไม่เยอะ ความเสี่ยงยังต้องจับตาดูสาธารณสุข ยังมองเป็นโอกาสกระแทกแล้วเป็นจังหวะเข้าซื้อ ทุกอย่างมองไปข้างหน้า ปีหน้าโมเมมตัมน่าจจะดีขึ้น"นายวิจิตร กล่าว

นายวิจิตร แนะติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ จับตาประเด็นการลด QE จากเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น คาดว่าจะเห็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย QE โดยรอบนี้ มีการอัดฉีดเม็ดเงิน QE เข้ามามารองรับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่แตกต่างจากรอบก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะเริ่มผ่อนคลายจริงในปีหน้า และเชื่อว่ารอบนี้จะทำทุกอย่างกระชับมากขึ้นจะใช้เวลาน้อยกว่าจะกระทบน้อยกว่า

"คิดว่าโมเมมตัม Impact จะน้อยลง เพราะรอบนี้มีการสุ่มเสี่ยงโควิดตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานรุนแรงและรวดเร็ว Downside เริ่มกระชับแล้ว น้อยลง และเรื่อง Fund Flow สัญญาณตลาดบ้านเราเป็นภาพ Outflow ต่างชาติขายออกต่อเนื่องที่ไหลออกไปเกือบ 7 แสนล้านบาท ต่างชาติถือครองหุ้นไทยต่ำมาก Downside ของตลาดคิดว่ามีแรงกดได้ไม่เยอะ"

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 9 ครั้งที่ผ่านมายังคงอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อเนื่อง แต่การประชุมครั้งที่แล้วมี 2 เสียงจาก 6 เสียงที่ให้ลดดอกเบี้ย เป็น 0.25% มองว่าเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่ จุดหลักอยู่ที่ล็อกดาวน์ ถ้ายังล็อกดาวน์ต่อเนื่องก็เป็นสัญญาณเปิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง จึงต้องจับตาการประชุม กนง.ในรอบหน้าน่าจะมีเสียงแตก อาจมีเซอร์ไพรส์

ทั้งนี้ ระยะสั้นมองว่า Downside พอมี รอจังหวะ Panic Sell ให้ตั้งรับก่อนฟื้นตัว โมเมมตัมมีปัจจัยกดดัน โดยทิศทางการเปิดประเทศก็น้อย , แรงหนุนจะค่อยๆฟื้นกลับ เช่น มาตรการกระตุ้นของรัฐ เช่นตัดดอกเบี้ย หรือขยายมาตรการคนละครึ่ง โดยมีความหวังปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ สถานการณ์โควิด ที่เห็นความหวังการฉีดวัคซีน ทำให้ตัวเลขแผ่วลง

นายวิจิตร มอง SET มีแนวรับที่ 1,515 จุด และ 1,500 จุด มีจังหวะเด้งได้บ้างถ้าหลุด 1,500 จุดจะเกิด panic sell ถ้าดูปัจจัยพื้นฐาน แต่มาดูปัจจัยเทคนิค บริเวณ 1,500-1,460 จุดสามารถทยอยตั้งรับ ได้ต้นทุนต่ำ ภาพรวมถ้าลงทุนบริเวณนี้ SET ฟื้นกลับ ก็ไป 1,580 เป็้นจุดสูงสุดเดิม และ 1,700 จุดได้

โดยแนะกลุ่มส่งออก เช่น TU , GFPT ,EPG และ SCGP มองภาพบรรจุภัณฑ์แนวโน้มดีขึ้น และมีโอกาสควบรวมกิจการเรื่อยๆ น่าจะเป็นแรงส่งกำไร และยังมีโมเมมตัมการเติบโต จังหวะย่อเป็นจังหวะสะสม และอีกกลุ่มโลจิสติกส์ ราคาเพิ่มขึ้น หลายตัว all time high ธุรกิจมีดีมานด์สูง การเปิดประเทศก็ยังใช้การขนส่ง ไตรมาส 2/64 ก็ทำนิวไฮต่อ ก็ยังสามารถเล่นต่อได้

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19ระลอกใหม่สายพันธุ์เดลต้าในสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่ามียอดผู้ติดเชื้อและผู้เข้ารักษาในโรงพยาบาลจำนวนมากในรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนน้อย ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19ได้ โดยปัจจุบันในประเทศไทยได้ดำเนินการวัคซีนฉีดให้กับประชากรไปทั้งสิ้น 22% แล้ว

โดยตลาดหุ้นไทยจะเหวี่ยงและผกผันตามสถานการณ์แพร่ระบาดที่เร่งขึ้น และถ้าหากมีการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยอาจจะมีนโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมอีกและเม็ดเงินที่ใช้ในมาตรการเยียวยาก็จะต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับตลาดหุ้นจีนที่ช่วงนี้ปรับตัวลงมาจากมาตรการกำกับดูแลของจีนที่พยายามลดการผูกขาดและสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมให้กับประชากรนั้น มีการออกนโยบายต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี เช่น Alibaba ถูกปรับ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โทษฐานผูกขาตลาด หรือ Ant Group ถูกระงับการ IPO เนื่องจากความกังวลในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อผ่าน Microfinance เป็นต้น ซึ่งเมื่อทางสหรัฐฯเห็นการใช้นโยบายดังกล่าว ทำให้ต่อไปนี้บริษัทจีนที่ต้องการ IPO ในสหรัฐฯ จะต้องเปิดเผยความเสี่ยงที่จะโดนแทรกแซงจากรัฐบาลจีนด้วย

"จีนพยายามปรับใช้มาตรการกำกับดูแลดังกล่าว เพื่อลดธุรกิจผูกขาดและเพิ่มความเท่าเทียมให้กับประชากรอย่างเหมาะสม เช่น นโยบายด้านการศึกษาที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน จีนจึงต้องมีมาตรการที่ใช้กับบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จากการสอนพิเศษต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึงการเข้าควบคุมธุรกิจอสังหาฯมากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่อีกด้วย" นายกรภัทรกล่าว

แม้นโยบายดังกล่าวจะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดหุ้นจีน ทำให้ตลาดหุ้นจีนเริ่มปรับตัวลง แต่ก็ยังมีปัจจัยที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังอีกด้วย รวมไปถึงการที่สหรัฐฯจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนผันผวนมากขึ้น ซึ่งความผันผวนของตลาดหุ้นจีนจะส่งผลถึงตลาด H-Shares มากกว่าตลาด A-Share ดังนั้นจึงแนะนำตลาด A-Share สำหรับนักลงทุนที่ยังอยากลงทุนในหุ้นจีน

ขณะที่ด้านการค้าระหว่างประเทศ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคือ ออสเตรเลีย ที่จีนส่งออกเครื่องโภคภัณฑ์เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงประเทศที่เป็นเซอร์วิสเซคเตอร์อย่างสิงคโปร์อีกด้วย

โดยประเด็นหลักที่จีนได้พยายามจะปฏิรูป ประกอบไปด้วย 1) การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษ พยายามปรับเปลี่ยนสู่ Green energy 2) เปลี่ยนจากประเทศผู้บริโภคชิพเป็นผู้ผลิตชิพให้มีศักยภาพทัดเทียมกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของจีน ที่จะทำให้เติบโตในระยะยาวภายใต้ Road map ที่มีความชัดเจนได้ โดยธุรกิจของจีนที่น่าสนใจหลังช่วงโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจ EV, Smarthome และพลังงานสะอาด เป็นต้น ด้านธุรกิจดั้งเดิมของจีนก็ยังพยายามปรับให้มีความแข็งแกร่งและทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงิน หรือ Real estate เป็นต้น

นายกรภัทร แนะนำหุ้นบิ๊กแคปที่น่าลงทุนทั้งหมด 9 ตัว ได้แก่ ADVANC ,KCE, SAT, BDMS, GULF, GPSC, CRC, TIDLOR


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ