TK เผยกำไรสุทธิ 9 เดือนของปีนี้เพิ่มขึ้น 37.5% ตามยอดขายรถจักรยานต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 10, 2021 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมงวด 9 เดือนอยู่ที่ 1,514.5 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 1,988.1 ล้านบาท กำไรสุทธิ 345.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.5% จาก 251.3 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน

ไตรมาส 3/64 มีกำไรสุทธิ 129.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6% จาก 108.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และรายได้รวม 476.2 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 624.9 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,818.0 ล้านบาท ลดลง 16.8% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 63 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและความเสี่ยงจากหลายปัจจัย

ปัจจัยสำคัญที่สะท้อนผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบริษัทฯ ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศที่มียอดจำหน่ายในไตรมาส 3 ปีนี้จำนวน 330,704 คัน ลดลง 20.2% จาก 414,344 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ตลอด 9 เดือนมีจำนวนรวม 1,204,745 คัน เพิ่มขึ้น 5.0% จาก 1,146,980 คัน จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ทางบริษัทจำเป็นต้องคงนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ลูกค้าที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ มากกว่าการเร่งยอดปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการหรือเพิ่มลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินกู้

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า ณ ไตรมาส 3/64 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,818.0 ล้านบาท ลดลง 16.8% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 โดยสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28.1% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2564 โดยมาจากกัมพูชาเป็นตลาดหลัก 84.7% มีลูกหนี้รวม 909.1 ล้านบาท เติบโต 5.0% จาก 865.5 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ สปป.ลาว มีลูกหนี้ 164.3 ล้านบาท ลดลง 16.0% จาก 195.7 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

"ที่กัมพูชาตลาดขยายตัวในไตรมาส 1 และหดตัวในไตรมาส 2 เนื่องจากมีการล็อกดาวน์สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตลาดกลับมาโตอีกครั้งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะยังมีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่สลับกันไป สำหรับใน สปป.ลาว สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลให้มีการล็อกดาวน์ ทำให้ตลาดยังไม่กลับมาเติบโต อย่างไรก็ตาม เราเห็นสัญญาณที่ดีในตลาดทั้งสองประเทศ ตลาดค่อยๆ กลับมาขยายตัว และอัตราการชำระเงินที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เชื่อว่าในกัมพูชาและ สปป.ลาว จะเริ่มกลับมาเติบโตได้ในไตรมาส 4 นี้" นายประพล อธิบาย

ด้านดีลการซื้อกิจการ เอ็มเอฟไอเอล (Myanmar Finance International Limited) หรือ MFIL ผู้ให้บริการสินเชื่อในเมียนมา บริษัทฯ ยังคงมีความสนใจและเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการดีลดังกล่าวต่อ โดยขณะนี้ยังต้องรอให้สถานการณ์ต่าง ๆ ในเมียนมาคลี่คลายและเอื้อให้สามารถเข้าไปดำเนินการต่างๆ ได้

บริษัทฯ ยังคงใช้กลยุทธ์รักษาสถานะเงินสดให้อยู่ในระดับที่พร้อมลงทุนสำหรับดีลที่ยังรอปิด อย่างกรณี MFIL เพื่อใช้สำหรับขยายตลาดเพื่อเพิ่มยอดลูกหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศทันทีที่ตลาดขยับตัว รวมทั้งใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจเดิมที่บริษัทฯ เชี่ยวชาญในตลาดใหม่ และการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทฯ เมื่อเห็นช่องทางและโอกาสที่เหมาะสม อนึ่ง ณ ไตรมาส 3/64 บริษัทฯ มีสถานะเงินสดรวมเงินฝากอยู่ที่ระดับประมาณ 2,514.3 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ