INTERVIEW: CRD บิ๊กก่อสร้างภาคเหนือชูเกมใหม่พลิกงบ "เทิร์นอะราวด์"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 24, 2021 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แกะรอยอีกหนึ่งหุ้น "เทิร์นอะราวด์" บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ อย่าง บมจ.เชียงใหม่ริมดอย (CRD) หลังจากตลอด 2 ปีก่อน (62-63) เผชิญกับผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง แต่ได้พลิกกลยุทธ์แตกไลน์เข้าสู่การเติบโตบนธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจบริหารจัดการขยะจึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับงบการเงินปี 64 นอกเหนือจากธุรกิจหลักที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่โซนภาคเหนือ สะท้อนจากผลงานช่วง 9 เดือนแรกพลิกมีกำไรสุทธิ 11.85 ล้านบาท และนำมาสู่การวางเป้าหมายใหม่เติบโตเท่าตัวมุ่งสู่รายได้ 2 พันล้านบาทภายใน 5 ปี พร้อม

*บทพิสูจน์ปี 64 ส่งซิกเข้าโหมด "เทิร์นอะราวด์"

นายธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ CRD ให้สัมภาษณ์กับกับ "อินโฟเควสท์" ว่า สาเหตุที่ผลประกอบการต้องขาดทุนต่อเนื่องในช่วงปี 62-63 เพราะเป็นช่วงที่บริษัทขยายงานรับเหมาก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ มากขึ้น จึงต้องพบกับภาวะการแข่งขันสูง ซึ่งกระทบกับต้นทุนด้านวัตถุดิบและแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของบริษัท หลังจากนั้นจึงมุ่งเน้นรับงานก่อสร้างที่มีมาร์จิ้นดีเป็นหลัก

แม้ว่าพอร์ตงานก่อสร้างส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันบริษัทได้กระจายเข้าไปรับงานก่อสร้างตามหัวเมืองใหญ่ในทุกภูมิภาคแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี และตรัง เป็นต้น พร้อมกับวางกลยุทธ์บริหารต้นทุนด้านต่างๆ เป็นการทำงานร่วมกับลูกค้า โดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรเพื่อออกแบบงานให้มีคุณภาพและควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับภาพรวมผลประกอบการปี 64 บริษัทเชื่อมั่นว่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้อย่างแน่นอน จากที่เคยขาดทุนเมื่อปี 62-63 โดยปีนี้คาดว่าแนวโน้มรายได้มีโอกาสแตะ 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นการรับรู้รายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างราว 800-900 ล้านบาท และที่สำคัญคือการมีรายได้จากธุรกิจบริหารจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ เข้ามาเสริมอีกราว 100 ล้านบาท

"ธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างในตอนนี้ เราไม่ได้มองเพียงแค่งานอาคารสูงเพียงอย่างเดียว เรามองไปถึงงานโครงการแนวราบด้วย เหมือนเป็น Ecosystem ร่วมกับลูกค้าอสังหาฯ โดยเราจะทำงานร่วมกับลูกค้า ช่วยกันออกแบบและวางแผนควบคุมค่าใช้จ่าย โดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรที่เรามีใส่เข้าไป วัสดุไหนที่บำรุงรักษายากก็เปลี่ยนมาเป็นวัสดุที่บำรุงรักษาง่ายที่มีคุณภาพดีกว่าและต้นทุนต่ำกว่า ทำให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายธีรพัฒน์ กล่าว

*แตกไลน์ธุรกิจบริหารจัดการขยะมูลฝอยเสริมแกร่งรายได้ประจำ

นายธีรพัฒน์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัท คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีการรับรู้รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1-1.3 พันล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นสัดส่วนงานภาคเอกชน 50% เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรม หรือ โรงงาน ส่วนอีก 50% จะมาจากงานภาครัฐ เช่น งานสาธารณูปโภค การจัดหาติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ของงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ เป็นต้น

ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศหลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มลดลงตามลำดับ ซึ่งมองว่าเป็นผลเชิงบวกต่อเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอกชนการลงทุนในระยะถัดไป ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะทยอยประกาศออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะโซนภาคเหนือที่เป็นหัวเมืองใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก นับเป็นผลดีกับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่จะมีงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น

และวันนี้บริษัทได้แตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจบริหารจัดการขยะมูลฝอยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับงบการเงินด้านรายได้ประจำ (Recurring Income) เพราะเป็นรูปแบบงานสัมปทานระยะยาว ปัจจุบัน บริษัทมีงานในมือ (Backlog) ราว 1.3 พันล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 5 ปี แบ่งเป็นงานในเขตเทศบาลนครลำปาง เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และ งานในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทุบรี

"ธุรกิจบริหารจัดการขยะมูลฝอยมีมาร์จิ้นที่ดีกว่า และเมื่อสิ้นสุดสัญญามักจะได้รับการต่อสัญญาจากลูกค้าเสมอ ที่สำคัญคือการแข่งขันไม่รุนแรงเท่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ผ่านมาเราก็ได้กระแสตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่ที่เราให้บริการ และเราก็มองต่อไปยังพื้นที่ปริมณฑล เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 67 รายได้จากธุรกิจดังกล่าวจะสร้างรายได้ประจำรับรู้รายได้เฉลี่ย 400-500 ล้านบาทต่อปี" นายธีรพัฒน์ กล่าว

*ส่องเป้า 5 ปีข้างหน้ารายได้โตเท่าตัวแตะ 2 พันลบ.

นายธีรพัฒน์ กล่าวว่า เป้าหมายการเติบโตตามระยะยาวในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทคาดหวังว่าแนวโน้มรายได้จะเพิ่มขึ้นไปแตะ 2 พันล้านบาท แบ่งเป็น การรับรู้รายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเฉลี่ย 1.5 พันล้านบาทต่อปี และธุรกิจบริหารจัดการขยะมูลฝอยอีกราว 500 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันยังได้วางยุทธ์ศาสตร์ขยายเข้าในธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเป็นการกระจายเสี่ยงทางธุรกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกับงานรับเหมาก่อสร้าง และในอนาคตก็อาจพิจารณาแนวทางการซื้อกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

"เราผ่านจุดต่ำสุดของผลประกอบการมาแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากการเดินหน้าฉีดวัคซีนและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดจากภาครัฐ เบื้องต้นประเมินว่าภายในปี 65-67 จะเป็นปีแห่งการลงทุนสร้างโอกาสเติบโตได้ค่อนข้างดีให้กับบริษัท เนื่องจากเศรษฐกิจน่าจะทยอยฟื้นตัว ส่งผลมีโครงการลงทุนใหม่เพิ่มมากขึ้นทั้งงานภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวก็คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วย" นายธีรพัฒน์ กล่าว

https://youtu.be/PK5SI3VD5nU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ