บอร์ดก.ล.ต.ปรับเกณฑ์กำกับ utility token พร้อมใช้,ต่อเวลาเว้นค่า Fee หุ้นกู้ยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 7, 2022 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแล "โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะพร้อมใช้" (utility token พร้อมใช้)

ก.ล.ต.ระบุว่านับตั้งแต่ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีพัฒนาการอย่างมาก ในหลายอุตสาหกรรมมีการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล โดยแปลงสิทธิเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว บันเทิง และกีฬา มีการแปลงคูปอง บัตรกำนัล คะแนนสะสม หรือบัตรเข้าชมงาน ให้อยู่ในรูปโทเคนดิจิทัล และมีความประสงค์ที่จะนำ "utility token พร้อมใช้" ไปจดทะเบียน (list) และซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุน หรือการซื้อขาย/การลงทุนมากกว่าการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากโทเคนดิจิทัล จึงควรใช้กลไกการกำกับดูแลในแนวเดียวกับการระดมทุนทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ซื้อขาย/ผู้ลงทุนให้มีข้อมูลเพียงพอ รวมทั้งมีกลไกกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดรองที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล "utility token พร้อมใช้" ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยง พัฒนาการและการใช้งาน รวมถึงการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เหมาะสม เช่น กำหนดให้ผู้ออกเสนอขาย (issuer) ที่ประสงค์จะนำ "utility token พร้อมใช้" ไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ต้องขออนุญาตเสนอขายกับ ก.ล.ต. และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดให้ศูนย์ซื้อขายฯ มีกลไกด้านการเปิดเผยข้อมูลและกำกับดูแลความเสี่ยงในการซื้อขายเพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องไม่เข้าข่ายเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment)

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลดังกล่าวต่อไป

นอกจากนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีมติเห็นชอบหลักการในการขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้สำหรับการออกเสนอขายตราสารหนี้หรือหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืน ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568

และ ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขการใช้เงินลงทุนสำหรับ Green Bond Social Bond และ Sustainability Bond เพื่อใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน โดยไม่จำกัดประเทศที่ลงทุน จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เงินในประเทศไทยหรือกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อขยายโอกาสการลงทุนสำหรับภาคธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค และเน้นย้ำบทบาทตลาดทุนไทยที่มุ่งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รวมทั้งเพื่อรองรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608

ทั้งนี้ นับจากที่มีเกณฑ์รองรับหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืนในปี 61 จนถึง ณ สิ้นปี 64 มีผู้ออกเสนอขายหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืนทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 21 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ