ทรีนีตี้ ประเมิน SET เดือนเม.ย.แกว่ง Sideways ขาดปัจจัยใหม่หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 1, 2022 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือน เม.ย.65 เดือนแรกงวดไตรมาส 2/65 ว่า ดัชนีมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ถึง Sideways down จากการขาดปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นตลาดและยังต้องติดตาม 5 ประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการลงทุนในเดือนนี้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ "ตั้งรับ" มองจุดเพิ่มน้ำหนักที่น่าสนใจได้แก่ 1,630 จุด ซึ่งจะเป็นบริเวณที่ทำให้ดัชนีกลับมามี Upside ในมาตรวัด Earning yield gap (EYG) อีกครั้ง

นอกจากนี้คาดการณ์ภาวะ Flattening yield curve มีโอกาสดำเนินได้ต่อไป จากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนนี้ที่น่าจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้หุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นกลุ่มมูลค่า (Value) นอกจากนั้น แนะนำให้ลงทุนหุ้นเติบโตขนาดกลาง-เล็กที่ยังได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้คนมากขึ้น สะท้อนได้จากปริมาณเงินในระบบ M2 ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี

"สถานการณ์ M2 ของไทยขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี เป็นภาพที่คล้ายกับช่วงไตรมาส 2/63 ที่ขณะนั้นหุ้นขนาดกลาง-เล็กคึกคัก ทั้งในแง่ของสภาพคล่องและการขยับขึ้นของราคาหุ้น" นายณัฐชาต กล่าว

สำหรับหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่มีอัตราการเติบโตน่าสนใจและมี Upside จากราคาเป้าหมายเชิงพื้นฐาน 10 ตัว ประกอบด้วย SA, TSR, SIMAT, IP, SVOA, IT, SUN, CHAYO, LEO และ AMR มองนักลงทุนสามารถจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นทั้ง 10 ตัวนี้ได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถปรับตัว Outperform ตลาดและหุ้นขนาดใหญ่ได้ในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้

ส่วนในฝั่งของหุ้นขนาดใหญ่นั้น หากต้องเลือกลงทุน มองว่ากลุ่มหุ้นที่ปลอดภัยได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาย่อตัวลงจนลดความร้อนแรงไปบ้างแล้ว นอกจากนั้นคาดว่าจะเริ่มเห็นนักวิเคราะห์ในตลาดทยอยออกมาประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 ในเชิงบวก ที่สำคัญมักเป็นกลุ่มที่ทนทานต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูงด้วยอยู่แล้ว เลือก BDMS, BCH, CHG, IMH เป็น Top pick ของกลุ่มต่อไป

5 ปัจจัยสำคัญ ในเดือนนี้ที่นักลงทุนต้องติดตาม ได้แก่

1.พัฒนาการความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ที่จะส่งผลต่อคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต และการ Price in มาตรการ Tightening ของธนาคารกลางต่างๆ

2.พัฒนาการของความชัน Yield curve หลังล่าสุด 2s10s spread ของสหรัฐฯ ลดต่ำลงสู่ระดับใกล้ 0% และของไทยทำจุดต่ำสุดใหม่ของปี

3.รายงานตัวเลข PMI ภาคการผลิตทั่วโลกประจำเดือนมี.ค.ที่น่าจะออกมาอ่อนแอ โดยเฉพาะจีน ที่ล่าสุดประกาศออกมาต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนแล้ว

4.รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของไทยและสหรัฐฯ ประจำเดือนมี.ค.ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนปรับตัวลดลงในช่วงถัดไป 5

.การเผยแพร่รายงานการประชุม Fed รอบที่ผ่านมา (FOMC Minutes) โดยจะต้องติดตามดูว่าคณะกรรมการมีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นการลดขนาดงบดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ