Decrypto: เลือกตั้งด้วย Blockchain กับความฝันอันไกล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 6, 2022 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ ได้ผ่านเทศกาลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันมาหมาดๆ โดยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ก็นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ในขณะนั้นเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ยังไม่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายเหมือนในทุกวันนี้ จึงเป็นที่น่าพิจารณาว่า Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีคุณสมบัติสำคัญในการตัดตัวกลาง มีความโปร่งใส และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้ง่าย เป็นต้น จะสามารถนำมาใช้เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้การเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีความโปร่งใสและรวดเร็วมากขึ้นได้หรือไม่

การใช้ Blockchain มาใช้เพื่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสามารถลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกตั้งได้ โดย Blockchain สามารถตัดตัวกลางของการดำเนินการเกี่ยวกับการนับคะแนนเลือกตั้ง โดยคะแนนจะถูกส่งจากผู้ลงคะแนนถึงผู้สมัครโดยตรง ซึ่งผู้ลงคะแนนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง กล่าวคือ ผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนที่ใดก็ได้ที่มีอินเตอร์เน็ต ไม่สามารถอ้างตัวเป็นบุคคลอื่นๆ เพื่อมีสิทธิลงคะแนนหลาย ๆ ครั้ง (ป้องกันบัตรผี หรือบัตรเขย่ง) ได้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain น่าจะมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ ประหยัดและง่ายกว่าระบบหรือวิธีการเลือกตั้งแบบดั้งเดิม

แต่อย่างไรก็ตามการใช้ Blockchain มาใช้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งยังมีจุดบอดที่ต้องพิจารณาในหลายประการ กล่าวคือ ในการยืนยันสิทธิก่อนการลงคะแนนเสียงมนุษย์ยังเป็นผู้ตัดสินใจและถ่ายทอดไปยังระบบ ซึ่งหากต้องการบิดเบือน (โกง) การลงคะแนนเสียงก็สามารถใช้ Hardware หรือ Software ฝังโปรแกรมหรือ Application เพื่อบิดเบือนได้

นอกจากนั้นแล้วแม้ Cryptography ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของ Blockchain นั้นจะขึ้นชื่อว่าเป็นระบบที่เจาะยาก แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันการถูกเจาะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดหากจะใช้ระบบ Blockchain มาใช้เพื่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ประชาชนจะต้องเข้าถึงอุปกรณ์ หรือรัฐต้องจัดหาอุปกรณ์ที่รองรับการลงคะแนนแบบดิจิทัลที่มีหลากหลายวิธีและช่องทาง ซึ่งในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายสูงและมีความเสี่ยงเรื่องการควบคุมความปลอดภัย

ด้วยความเร่งในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วในปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าระบบการเลือกตั้งหรือลงคะแนนเสียงด้วยระบบดิจิทัลจะถูกใช้ในการเลือกตั้งหรือใช้ในทางการเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน แต่จะเป็น Blockchain หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยี ณ ขณะนั้นที่จะมีความสอดคล้องและจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งหรือลงคะแนนเสียงหรือไม่

ไม่ว่าด้วยเทคโนโลยีใดก็เป็นเพียงส่วนช่วยสนับสนุนกิจกรรมในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญก็ยังเป็นหัวใจของประชาธิปไตย ความโปร่งใส และการเคารพกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องเคารพและช่วยกันรักษาให้คงอยู่และเกิดขึ้น

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ